หมอสุภัทร ยันโควิดภาคใต้ขาขึ้น ส่วนหนึ่งจากคลัสเตอร์งานศพ งานบุญ ตั้งวงก๊งเหล้า วงเล่นพนันวอนปรับวัฒนธรรมลั่นอีก 3 เดือนสำคัญ หวังยอดฉีดวัคซีนครอบคลุม “เยาวชนผู้ติดเชื้อ”
หมอสุภัทร ยันโควิดภาคใต้ขาขึ้น ส่วนหนึ่งจากคลัสเตอร์งานศพ งานบุญ ตั้งวงก๊งเหล้า วงเล่นพนันวอนปรับวัฒนธรรมไม่กินข้าวร่วมวง ลั่นอีก 3 เดือนช่วงเวลาสำคัญ หวังยอดฉีดวัคซีนครอบคลุม “เยาวชนผู้ติดเชื้อ” เผยหมดเปลือกปมติดโควิดหลังร่วมงานศพทำติดยกครัว เป็นห่วงผู้สูงอายุ ด้านเครือข่ายงดเหล้าภาคใต้ตอนบนชวนจัดงานศพ งานบุญประเพณี ยึดแก่นสาระสำคัญ ไม่เน้นคนเยอะ และปลอดเหล้า-พนัน
เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคใต้ตอนบน สมาคมเพื่อนเยาวชนและพัฒนาสังคมภาคใต้ตอนบน และกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนเขต 11 สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาออนไลน์ “ถอดรหัสงานศพ-งานบุญ ภาคใต้ และการปรับตัวเพื่อหยุดคลัสเตอร์โควิด-19” โดยก่อนการเสวนามีการแสดละครออนไลน์เพื่อสะท้อนภาพงานศพ คลัสเตอร์โควิด-19 จากทีมละครรณรงค์เฉพาะกิจเธียเตอร์ ด้วย
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ปัจจุบันการระบาดของโรคโควิด 19 ในพื้นที่ภาคใต้อยู่ในขั้นวิกฤติ เช่น ที่อำเภอจะนะ มีโรงพยาบาลขนาด 120 เตียง โรงพยาบาลสนามขนาด 700 เตียง เต็มทั้งหมด ยังเหลือผู้ป่วยกว่า 300 คน ที่ต้องใช้วิธีการดูแลตัวเองที่บ้าน ทั้งนี้ลักษณะของการติดเชื้อเป็นการติดเชื้อในชุมชน โดยมีกิจกรรมของชุมชนเป็นตัวแพร่เชื้อ ซึ่งงานศพเป็นหนึ่งในกิจกรรมชุมชนที่สำคัญ นอกนั้นเป็นงานเลี้ยงสังสรรค์ วัยรุ่นตั้งวงกินน้ำกระท่อม เป็นต้น จะเห็นว่าสถานการณ์ใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างนั้นมีการระบาดตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม มีผู้ป่วยวันละ 400 – 1,000 คน จนถึงเดือนสิงหาคมสถานการณ์ยังทรงตัว แต่พอมีการคลายล็อกเมื่อวันที่ 1 กันยายนเป็นต้นมาก็พบว่า ยอดติดเชื้อใน 7 จังหวัดเพิ่มขึ้นอีก เพราะคนมีการเดินทางมากขึ้น มีการทำกิจกรรมมากขึ้น พบปะสังสรรค์กันมากขึ้น ในขณะที่จังหวัดอื่นๆยอดผู้ติดเชื้อไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก
นพ.สภัทร กล่าวต่อว่าสถานการณ์ในภาคใต้ค่อยๆ มีผู้ป่วยไต่ขึ้นเป็นลำดับและในเดือนตุลาคมนี้ถือว่าสาหัสมาก การเปิดประเทศนั้นกรณีคนต่างชาติที่จะเข้ามาในประเทศไทยไม่น่าห่วงเท่าไหร่นักเนื่องจากมีมาตรการที่เข้มงวดมากทั้งให้มีการตรวจหาเชื้อโควิดก่อนเดินทาง เมื่อเข้ามาถึงประเทศไทยแล้วก็ให้มีการตรวจซ้ำอีกครั้งถือว่าเป็นมาตรการที่เข้ม แต่ที่น่าเป็นห่วงคือการติดเชื้อในประเทศเอง โดยเฉพาะกรณีที่จะมีการอนุญาตให้เปิดสถานบันเทิงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในช่วงเดือนธันวาคม ส่วนการจัดงานศพ ตนไม่แน่ใจว่าในพื้นที่อื่นๆ นั้นมีลักษณะการจัดงานในรูปแบบใด แต่ขณะนี้ ในจังหวัดสงขลา เริ่มจะมีการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการจัดงานศพ การรับประทานอาหารภายในงานจะเป็นแบบบุฟเฟ่ต์ จานใครจานมัน หรือแจกอาหารกล่องกลับบ้าน ลักษณะเช่นนี้ ลดความเสี่ยงในการแพร่โรคได้ แต่กรณีที่ตั้งโต๊ะรับประทานอาหารร่วมกัน ถึงแม้จะมีช้อนกลาง แต่มีการพูดคุยระหว่างกัน อาจจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่โรคได้
“ต้องบอกว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 จะสร้างความลำบากให้เราไม่เกิน 3 เดือน ช่วงปีใหม่เราน่าจะผ่อนคลายมากขึ้น เนื่องจากฉีดวัคซีนมีความครอบคลุมมากขึ้น อนาคตก็เหนื่อยน้อยลง โอกาสติดเชื้อน้อยลง หัวใจคือ 2-3 เดือนนี้ ที่การฉีดวัคซีนกำลังไต่ขึ้น การป้องกันตัวเองสำคัญ งานบุญงานศพต้องเข้มงวดมาก ตอนนี้ผมไปงานศพ ไม่ถอดหน้ากากเลย ไม่รับประทานอาหาร ร่วมกันในงานเพราะต้องทำให้เป็นตัวอย่างเรื่องการป้องกันตนเอง หัวใจของการติดเชื้อคือจมูก กับปาก เมื่อทำอย่างเข้มงวด เราจะปลอดภัยสูง” นพ.สุภัทร กล่าว
นายองอาจ พรหมมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคใต้ตอนบน กล่าวว่า ทางเครือข่ายงดเหล้าให้ความสำคัญในการสร้างชุมชนต้นแบบที่เรียกกันว่า ศูนย์เรียนรู้ชุมชนงดเหล้าลดปัจจัยเสี่ยงมี 16 ชุมชนใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน โดยกระบวนการจะเริ่มจากการชวนคนเลิกเหล้า สู่การจัดสภาพแวดล้อมและเชื่อมกลไกนโยบาย ทั้งระดับตำบลและอำเภอ ซึ่งมีการขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ไวรัสโควิด 19 ตั้งแต่ระลอกแรก ทางชุมชนก็ปรับตัว ให้ความสำคัญการขับเคลื่อนงดเหล้ากับการป้องกันโควิดควบคู่กันไป เช่น การทำแปลงผักแปลงยาสมุนไพรในชุมชน การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางให้เลิกเหล้า-บุหรี่ และยกระดับชีวิตท่ามกลางวิกฤต เช่น หนุนรถพุ่มพวง
นายองอาจ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ล่าสุด มีรายงานคลัสเตอร์โควิดที่เกิดจากงานบุญ งานศพ โดยเฉพาะในวงเหล้าและวงการพนัน ทางเครือข่ายจึงให้ความสำคัญ โดยเน้นจับมือกับผู้นำชุมชน ประสานจัดงานบุญงานศพปลอดวงเหล้าวงพนัน ในชุมชนต้นแบบทั้ง 16 แห่ง อีกทั้งร่วมกันประชาสัมพันธ์สร้างกระแสผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้เกิดการตื่นตัว และตระหนักถึงความสำคัญ รวมถึงผลักดันสู่นโยบายอำเภอ ซึ่งนายอำเภอจาก 9 อำเภอใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนได้ให้การตอบรับและประกาศผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้กำกับดูแลให้ชุมชนจัดงานบุญงานศพปลอดวงเหล้าและวงพนัน ลดความเสี่ยงเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด รวมถึงลดอุบัติเหตุสร้างความปลอดภัย นอกจากนี้ยังได้ยื่นข้อข้อเสนอผ่านกลไก สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เพื่อส่งผ่านไปยังคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัดให้ความสำคัญและเข้มงวด ในประเด็นงานศพ งานบุญประเพณี ปลอดจากเหล้าและการพนัน เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่เชื่อโควิด 19 และลดปัญหาสังคมอื่นๆ
ขณะที่ นายธนวัฒน์ ป่ากว้าง เยาวชนผู้ป่วยโควิด 19 กล่าวว่า ตนเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคําแหง ก่อนหน้านี้อยู่กรุงเทพฯ ได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัวในการช่วยเหลือเบื้องต้นนักศึกษาที่ติดเชื้อโควิด ทั้งมอบถุงยังชีพ ยารักษาโรค เบื้องต้น ต่อมาเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาตนได้กลับมาที่บ้านต่างจังหวัดเพื่อดูแลแม่ที่ป่วย และมีโอกาสได้ไปร่วมงานศพภายในพื้นที่ซึ่งต่อมาพบว่ามีผู้ติดเชื้อจากตลาดสดทุ่งสงมาร่วมงานด้วย และทำให้เกิดการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์งานศพดังกล่าวจำนวนมาก หลายครอบครัว กระจายหลายอำเภอ รวมถึงครอบครัวตนก็ติดกันหลายคนและเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ส่วนตัวก็เป็นผู้ติดเชื้อซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม
“ตอนอยู่กรุงเทพก็คิดว่ามีความเสี่ยงสูงเพราะเราต้องทำกิจกรรมที่ต้องเจอคนเยอะ ออกไปช่วยเพื่อนนักศึกษาที่ติดหรือถูกกักตัว ก็ป้องกันตัวเองอย่างเต็มที่ ได้กลับมาบ้านที่นครศรีธรรมราช เราคิดว่าน่าจะมีความเสี่ยงน้อยกว่ากรุงเทพฯ แต่มันไม่ใช่เลย กลับกลายเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากงานศพมีคนติดชื้อจำนวนมาก หลายครัวเรือน ดังนั้นอยากจะฝากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงนี้เป็นช่วงเทศกาลงานบุญของภาคใต้อยากให้ทุกคนช่วยกันรักษาตัวเอง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ตามมาตรการภาครัฐ งานศพ งานบุญ ประเพณีต่างๆ ควรเอาเฉพาะแก่นแกนสาระสำคัญของงาน ไม่เน้นคนจำนวนมาก จัดงานที่ปลอดเหล้าปลอดพนัน เราน่าจะได้บุญกุศลร่วมกันมากกว่า และยังไม่เสี่ยงติดเชื้อด้วย ขอให้ช่วยกัน เราอยู่รอดกันทุกคน” นายธนวัฒน์ กล่าว.