Monday, October 14, 2024
Latest:
ประชาสัมพันธ์

ภาคประชาสังคมวอน “บิ๊กตู่” ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ ตามกฎหมาย ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระจายอำนาจ อปท. ร่วมคุมการระบาด ดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม พร้อมช่วยเหลือ ปชช. ตกงาน กักตัว เสริมการดูแลทางการแพทย์

วันนี้(29 เมษายน2564)  นายไมตรี  จงไกรจักร  ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไทย กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ป้องกันสาธารณะภัย 2550 มาตรา 4 ระบุไว้ชัดเจนว่าโรคระบาดในมนุษย์ เป็น 1 ใน 18 ประเภทสาธารณภัย ที่สามารถประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ  ซึ่งเมื่อประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว มาตรา 20 ระบุว่า ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถใช้งบประมาณในการจัดการดูแล ควบคุมป้องกัน ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ได้ โดยไม่ต้องถูกสตง. ตรวจสอบ ซึ่งวันนี้อปท.กว่า ร้อยละ 90 มีงบนี้อยู่ ไม่จำเป็นต้องของบใหม่แต่อย่างใด และเมื่อประกาศเป็นภัยพิบัติทางจังหวัดเองก็จะมีงบทดลองจ่าย 20 ล้านบาทด้วย

นายไมตรี กล่าวต่อว่า วันนี้ใช้เพียงพ.ร.บ.โรคติดต่อเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน ซึ่งจะใช้บุคลากรทางการแพทย์เท่านั้นที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง แม้แต่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยังช่วยทำได้น้อย ส่วนอาสาสมัครที่อื่นๆ เช่น ชรป., อปพร., อาสาสมัครภัยพิบัติ ไม่สามารถเข้าไปช่วยตรงนั้นได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ประกาศภัยพิบัติผู้อำนวยการท้องถิ่น หรือผู้อำนวยการจังหวัดสามารถให้ใครก็ได้ช่วยทำงาน ยิ่งตอนนี้ล็อคดาวน์ ขอความร่วมมือไม่ให้ออกจากบ้าน คนตกงาน คนกักตัวก็จะยิ่งทำให้มีคนต้องการความช่วยเหลือมากขึ้น นอกเหนือจากการช่วยเหลือทางการแพทย์

“รอบนี้การระบาดโควิด -19 รุนแรงที่สุด มีการติดเชื้อจำนวนมากและกระจายไปทั่วทุกจังหวัดไม่มีเว้น ฉะนั้นถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องกระจายอำนาจ ให้ท้องถิ่นมีหน้าที่ดูแลผู้ได้รับผลกระทบควบคู่ไปกับการดูแลผู้ป่วยของบุคลากรทางการแพทย์ด้วย ดังนั้นจึงขอเรียกร้องท่านนายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งมีการรวบพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง 31 ฉบับไปแล้ว ซึ่งรวมถึงพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 นั้นให้มีการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติให้ท้องถิ่นในการดูแลประชาชนสำหรับคนที่ได้รับผลกระทบ” นายไมตรี กล่าว

ด้าน นายเจกะพันธ์  พรมมงคล  ผู้ประสานงานขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชนภาคใต้ กล่าวว่า การรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ หยุดยั้งการแพร่ระบาดได้ ด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น การรวมกลุ่มของประชาชน ในภารกิจต่างๆ อาทิ การตั้งด่านตรวจสกัด การตรวจหาเชิงรุก การเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งการผลิตหน้ากากผ้า เจลล้างมือ และทำงานร่วมกันกับตลาดต่างๆ เป็นต้น ซึ่งทางรัฐบาลควรนำบทเรียนเหล่านี้มาใช้รับมือการแพร่ระบาดในรอบที่ 3 นี้ โดยกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมรับมือการระบาดของโควิด-19 ที่พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรองรับ สามารถใช้งบประมาณและบุคลากรในพื้นที่ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย

“ขอให้นายกรัฐมนตรีได้เร่งประกาศในการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยเร็ว เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เร่งดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบนี้ และควรใช้แนวทางการกระจายอำนาจให้ทุกๆ ภาคส่วนที่มีความพร้อมในการป้องกัน บรรเทา วิกฤติทางสุขภาพในครั้งนี้ ได้มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะในสภาวะวิกฤติแบบนี้ลำพังรัฐบาลเองคงจะยากในการควบคุมสถานการณ์ จำเป็นต้องให้ภาคประชาชนและทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมโดยเร็ว”นายเจกะพันธ์ กล่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *