แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย สมัยที่ 2 ศิษย์เก่าคณะเทคโนโลยีชีวภาพ
“ความสำเร็จในมิติของผม คือ ความสำเร็จร่วมกัน จากการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ” นี่คือคำจำกัดความที่แสดงตัวตนของคนที่มีบทบาทการทำงานที่หลากหลาย “แสงชัย ธีรกุลวาณิช” ศิษย์เก่าคณะเทคโนโลยีชีวภาพ (ปัจจุบันวิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรและเทคโนโลยีอาหาร) มหาวิทยาลัยรังสิต รหัส 33 ผู้ดำรงตำแหน่งประธานสมาพันธ์ SME ไทย สมัยที่ 2 ควบบทบาทผู้บริหาร บริษัท ไร้ท์ โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไร้ท์ รีแอคติเวชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ซึ่งจะมาแบ่งปันเรื่องราวผ่านบทบาทที่แตกต่าง แต่ล้วนมีปณิธานเดียวกัน คือ เพื่อการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ
บทบาทประธานสมาพันธ์ SME ไทย
คุณแสงชัย เล่าถึงจุดเริ่มต้นของบทบาทประธานสมาพันธ์ SME ไทยให้ฟังว่า “เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ได้รับการชักชวนจากเพื่อนซึ่งเป็นประธานสมาพันธ์ SME ไทยในสมัยนั้น ส่วนตัวเราเห็นถึงอุดมการณ์และเชื่อว่าสมาพันธ์จะมีบทบาทสำคัญในการเติมเต็มช่องว่างโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยสมาพันธ์ SME ไทยเป็นองค์กรเครือข่ายภาคเอกชนจากกลุ่มนักธุรกิจจิตอาสา ที่มุ่งมั่นในการรวบรวมและส่งเสริมกลุ่มผู้ประกอบการ SME ในทุกพื้นที่ ตลอดจนกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ของประเทศ ให้มีโอกาสเข้าถึงกลไกการทำงานของภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยกระจายโอกาส กระจายรายได้ และนำความมั่งคั่งเข้าสู่ชุมชน ตามสโลแกนของสมาพันธ์ที่ว่า “อยู่รอด อยู่เป็น อยู่เย็น อยู่ยาว”
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการ SME อยู่ประมาณ 3.2 ล้านราย โดย 99.5% เป็นผู้ประกอบการ SME และอีก 85% เป็นผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งสามารถสร้างตำแหน่งงานมากถึง 12 ล้านตำแหน่ง คิดเป็น 72% ของการจ้างงานทั้งระบบในภาคเอกชน โดยสมาพันธ์ SME ไทยมีสมาชิกอยู่ประมาณแสนราย ซึ่งแบ่งออกเป็นสมาชิกทั่วไปและสมาชิกสมทบ
“สมาพันธ์ SME ไทยมีพันธกิจในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ นวัตกรรม และสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ เพื่อยกระดับทักษะและขีดความสามารถ ตั้งแต่ผู้ประกอบการตลอดจนถึงภาคแรงงานทั้งระบบ รวมถึงการจัดหากองทุนของหน่วยงานต่างๆ หรือแหล่งทุนต้นทุนต่ำจากหน่วยงานธนาคารที่เชื่อถือได้ให้กับ SME พร้อมทั้งขยายช่องทางการตลาด เพื่อส่งออกสินค้าและบริการไปสู่ตลาดระดับโลก ผ่านการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนในทุกระดับ เราจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงเป็นกระบอกเสียงในการแก้ปัญหาต่างๆ เสนอแนวทางการแก้ไขที่ตรงกับความต้องการ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้านำมาซึ่งความยั่งยืนของธุรกิจและสังคมไทยด้วยทิศทางที่ถูกต้อง”
บทบาทผู้บริหารบริษัทในภาคเอกชน
จากจุดเริ่มต้นของการมองภาพอนาคต ในช่วงที่ประเทศไทยยังมีช่องว่างเกี่ยวกับธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม สู่บทบาทของผู้บริหารบริษัทภาคเอกชนที่เป็น 2 บริษัทชั้นนำที่ให้ความสำคัญเรื่อง BCG Economy ซึ่งสามารถตอบโจทย์ทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจในยุคปัจจุบัน ผ่านการสั่งสมทั้งประสบการณ์และองค์ความรู้มาตลอดระยะเวลา 20 ปี “บริษัท ไร้ท์ โซลูชั่น จำกัด (มหาชน)” เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์งานวางระบบทางวิศวกรรม และบริการผลิต ติดตั้ง และให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม อาทิ ระบบบำบัดอากาศ ระบบบำบัดน้ำเสีย และระบบบำบัดของเสีย โดยมีกลุ่มลูกค้า 90% เป็นโรงงานอุตสาหกรรม ตั้งแต่อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี ส่วน “บริษัท ไร้ท์ รีแอคติเวชั่น จำกัด (มหาชน)” เป็นบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายถ่านกัมมันต์ หรือ Activated Carbon ที่สามารถใช้ซ้ำได้ นำมาซึ่งการลดระดับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และสร้างแต้มต่อในการเพิ่มคาร์บอนเครดิตให้กับคู่ค้าทางธุรกิจ
“เราเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายถ่านกัมมันต์ซึ่งผลิตจากกะลามะพร้าว โดยโรงงานของเราตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง เราจึงเลือกใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นใกล้เคียงในภูมิภาค เพื่อเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบทางการเกษตรที่เป็นของเหลือใช้ โดยผ่านกระบวนการแปรรูปด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง เป็น Bio Economy ซึ่งเชื่อมโยงกับ Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเราให้บริการนำเอาถ่านกัมมันต์ที่จำหน่ายไปแล้วมาฟื้นฟูสภาพ จนสามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ช่วยเพิ่มวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ให้สามารถฟื้นฟู หมุนเวียน และใช้ซ้ำได้ถึง 5-10 ครั้ง ก่อนการกำจัดทิ้งอย่างถูกวิธี เป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและลดพื้นที่ในการฝังกลบ นำมาซึ่งการลดต้นทุนอย่างมหาศาลให้กับผู้ประกอบการ โดยเราให้บริการแบบครบวงจร เราต้องการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาคุณภาพพร้อมสร้างนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ให้เกิดประโยชน์กับการพัฒนาประเทศในด้านสังคมและเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม เป็นเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9”
บทบาทที่นอกเหนือไปจากนี้
บทบาทอื่นๆ นอกจากนี้ คือ การได้รับโอกาสให้เป็นคณะกรรมการของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ NIA – สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน), สวทช. – สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค (Regional Science Park), NECTEC – ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, กรมราชทัณฑ์, สถาบันยานยนต์, องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย, และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการติดตามขับเคลื่อน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งล้วนมีความสำคัญ และสัมพันธ์กับการยกระดับฐานราก เพื่อการพัฒนาของประเทศ
ไม่ได้เรียนในสิ่งที่เลือก แต่ได้ค้นพบเส้นทางที่ชอบ
“แรกเริ่มเดิมทีไม่เคยคิดเลยว่าจะเรียนเทคโนโลยีชีวภาพ ความฝันในวัยมัธยม คือ อยากเป็นวิศวกร โดยเลือกเรียนแผนกวิทย์-คณิต ที่ไม่มีเรียนวิชาชีวะ จากโรงเรียนอำนวยศิลป์ แล้วจับพลัดจับผลูเพื่อนชวนมาสอบเข้าที่ ม.รังสิต เพราะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกๆ ในไทยที่มีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในขณะที่กำลังเลือกอันดับคณะที่อยากจะเข้าเรียน บังเอิญมีอาจารย์ ม.รังสิต ท่านหนึ่งเดินมาคุยกับเรา แล้วท่านก็พูดว่า “คณะเทคโนโลยีชีวภาพน่าเรียนมาก เป็นคณะแห่งอนาคต จบไปมีงานทำแน่” ด้วยความคึกคะนองสุดท้ายเราจึงเลือกคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นอันดับ 1 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นอันดับ 2 และคณะเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นอันดับ 3 โดยเราคิดว่าน่าจะติดอันดับ 1 ตามที่ตั้งใจไว้ แต่ปรากฏว่ามาติดอันดับ 3 ทั้งๆ ที่เราไม่เคยเรียนวิชาชีวะมาก่อนเลย ทำให้การเริ่มเรียนวิชาชีวะในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นความโหดร้ายอย่างมากในช่วงแรก แต่พอเราสามารถปรับตัวได้ก็เริ่มสนุก เรามองว่านี่ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้เราได้เรียนในสิ่งที่ไม่เคยเรียนมาก่อน ทำให้เรารู้สึกตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา โดยเราเป็นนักศึกษารุ่นที่ 4 ของคณะเทคโนโลยีชีวภาพ และเป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 ของมหาวิทยาลัย”
สมัยเรียนเราเป็นนักกิจกรรม ได้มีโอกาสเป็นประธานสโมสรนักศึกษาคณะเทคโนโลยีชีวภาพ โดยมีผลงานริเริ่มโครงการ คือ พานักศึกษาและอาจารย์ไปทำกิจกรรมพัฒนาชุมชนหมู่บ้านดงน้อย จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยทำทั้งหมด 4 เรื่อง คือ 1. แนะนำสารปราบศัตรูพืชทางชีวภาพ ด้วยสารสกัดจากสะเดา 2. แนะนำกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกแตงโมและฟักทองเพื่อเอาเมล็ด เปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยหมักจากจุลินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี 3. สร้างโรงเพาะเห็ดให้กับชุมชน และ 4. สอนหนังสือเด็กๆ ในช่วงปิดเทอม
ความประทับใจ และชีวิตในรั้ว ม.รังสิต แบบฉบับ พ.ศ. 2533
“สนุกมาก ต้องบอกว่า ม.รังสิต ทั้งในอดีตและปัจจุบันมีสภาพแวดล้อมที่ดีและมีบรรยากาศที่ร่มรื่น แม้ว่าในสมัยนั้นยังมีสิ่งก่อสร้างไม่มากเหมือนในปัจจุบัน เราได้ใช้ชีวิตแวดล้อมไปด้วยเพื่อนๆ รุ่นพี่ รุ่นน้อง ที่สมัครสมานสามัคคีกัน มีสายสัมพันธ์ที่ยังคงดำเนินมาจนถึงตอนนี้ และที่สำคัญ คือ เราได้เรียนจากหลักสูตรที่ดีมีมาตรฐาน มีความพร้อมทั้งสถานที่ และอุปกรณ์การเรียนรู้อย่างครบครัน ซึ่งช่วยสร้างให้เราเป็นบัณฑิตนักปฏิบัติที่มีคุณภาพ มีคุณค่า และสามารถรับใช้สังคมได้อย่างเต็มภาคภูมิ และจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากความความทุ่มเทและเอาใจใส่ของคณาจารย์ ที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครู ซึ่งคอยทำหน้าที่เป็นทั้งพี่ เป็นทั้งเพื่อน และเป็นอาจารย์ที่ให้คําปรึกษาในทุกๆ เรื่อง สิ่งเหล่านี้ คือ จุดเด่นของ ม.รังสิต นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยมีความเป็นมืออาชีพในการแก้ไขปัญหาให้กับนักศึกษาเสมอๆ สำหรับผมต้องขอชื่นชมท่าน ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ และคณะผู้บริหารของ ม.รังสิต ในยุคนั้นจวบจนยุคนี้ ที่มีวิสัยทัศน์ในการมองเห็นอนาคต ในแต่ละยุคสมัยของวงการการศึกษา จัดตั้งคณะซึ่งจะผลิตบัณฑิตออกมาป้อนตลาดอย่างแหลมคมและชาญฉลาด คณะเทคโนโลยีชีวภาพที่ผมเรียนยังคงเป็นที่ต้องการ และมีความสำคัญต่อบทบาทการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะเศรษฐกิจแบบ BCG Economy ที่เป็น S-Curve ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพของสินค้า บริการ รวมไปถึงความสามารถในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในประเทศแห่งนี้”
สิ่งที่ทำในวันนี้ ยังไม่ใช่ความสำเร็จ
“ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะว่าความสำเร็จมันไม่ได้อยู่ที่ตัวเราเท่านั้น “แต่ความสำเร็จในมิติของผม คือ ความสำเร็จร่วมกัน จากการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ” เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตและสามารถแข่งขันอย่างทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การเรียนรู้ในทุกช่วงของชีวิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องสามารถสกัดเอาองค์ความรู้มาใช้ประโยชน์ต่อได้ บางสิ่งที่ดูยากในตอนแรกต้องลองลงมือทำ อย่าพึ่งพูดว่าทำไม่ได้ โดยเราต้องมีทัศนคติเชิงบวกกับเรื่องต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต ต้องเรียนรู้จากความล้มเหลว ผิดพลาด แก้ไข และลองทบทวน พยายามทำซ้ำจนสำเร็จ เพราะฉะนั้นแสงชัยไม่ได้สำเร็จหรือประสบผลลัพธ์ในเชิงบวกกับทุกเรื่องที่ทำ แต่เราจะไม่ผิดพลาดซ้ำสองในเรื่องเดิมอีก”
ฝากถึงน้องๆ ที่กําลังก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัย หรือกําลังจะเริ่มต้นการใช้ชีวิตวัยทำงาน
หลายคนอาจเป็นเหมือนผมที่ได้เรียนในสิ่งที่ไม่ได้ตั้งใจไว้ในตอนแรก สำหรับคนรุ่นใหม่อยากให้สำรวจความต้องการ ความถนัดของตัวเอง อยากให้มองภาพในสิ่งที่ตัวเองอยากเป็นในอนาคต และมุ่งเป้าทำตามความฝันของตัวเอง คนรอบๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ เพื่อนๆ คนใกล้ชิด และคุณครูแนะแนว ถือเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถให้คำปรึกษาที่ดีได้ สถานการณ์วิกฤตทั้งในประเทศและในระดับโลกสามารถเป็นจุดได้เปรียบของคนรุ่นใหม่ที่ได้เคยเห็น ได้มีประสบการณ์ที่คนรุ่นเก่าไม่เคยมีตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้มีโอกาสในการเติบโต ค้นหาวิธีการเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคต อยู่รอด อยู่เป็น อยู่เย็น อยู่ยาว
อยู่รอด คือ สามารถอยู่รอดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
อยู่เป็น คือ อยู่ได้อย่างสบาย ด้วยการใช้องค์ความรู้ที่มีมาพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
อยู่เย็น คือ การใช้ชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาทและไม่มีหนี้ เพื่อสร้างความยั่งยืน
อยู่ยาว คือ เป็นคนดีมีคุณธรรมและซื่อสัตย์สุจริต
คนรุ่นใหม่เป็นอนาคตของประเทศ อยากให้น้องๆ ได้เรียนรู้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเองและผู้อื่น ได้ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงพัฒนาประเทศไปในทางที่ดีขึ้น เหมือนกับเพื่อนๆ พี่ๆ และพ่อแม่ ของเราในรุ่นก่อนหน้านี้