การศึกษา-ไอที

เปิดมุมมองนักกายภาพบำบัด กับการพัฒนาระบบบริการกายภาพบำบัดผู้ป่วยระยะกลาง

               คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต จัดเสวนาวิชาการ “หัวใจการพัฒนาระบบบริการกายภาพบำบัดผู้ป่วยระยะกลางสู่ความยั่งยืน” พร้อมเปิดมุมมองนักกายภาพบำบัด กับการพัฒนาระบบบริการกายภาพบำบัดผู้ป่วยระยะกลาง

ดร.กัลยา ก้องวัฒนากุล อาจารย์ประจำคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต และประธานหลักสูตรระยะสั้นกายภาพบำบัดเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพระยะกลาง เปิดเผยว่า สำหรับการเสวนาครั้งนี้จะเป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่ผู้เข้าร่วมเสวนาได้ฟังประสบการณ์จากคนที่ได้ทำงาน แล้วนำข้อมูลจากที่เรียนมาร่วมกับการที่ได้ไปดูงานโรงพยาบาลต้นแบบ และฝึกประสบการณ์การทำงานในพื้นที่โรงพยาบาลต้นแบบมาเป็นบทเรียนอีกส่วนหนึ่ง เพื่อให้ตกผลึกความคิดให้ชัดเจนขึ้นว่า เมื่อเขากลับไปแล้วในบริบทของโรงพยาบาลของเขาจะจัดวางระบบบริการอย่างไรให้เหมาะสม ดังนั้น จึงได้เชิญคนที่ทำงานในหลายรูปแบบ ทั้งในระดับศูนย์ความเชี่ยวชาญ โรงพยาบาลขนาดใหญ่ จนถึงโรงพยาบาลขนาดเล็ก เพื่อให้ผู้เข้าอบรมของเราที่มาจากหลากหลายโรงพยาบาลได้เห็นได้ฟังและสามารถนำไปใช้ได้ง่ายขึ้น รวมทั้งมีผู้ให้ความเห็นก็จะเปิดมุมมองออกไปได้กว้างมากขึ้น

               ด้าน กภ.นันทกานต์ ชุมภูพันธ์ นักกายภาพบำบัดชำนาญการ โรงพยาบาลบางบัวทอง หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา กล่าวว่า หลังจากที่อบรมไปแล้วสามารถนำไปต่อยอดในเรื่องของการปรับระบบกายภาพบำบัดเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพระยะกลาง หรือ IMC ที่มีอยู่แล้วให้เป็นระบบมากขึ้น ซึ่งหมายถึงระบบในโรงพยาบาล การส่งต่อ การประสานงานกับสหวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล แพทย์แผนไทย หรือแพทย์แผนจีน ร่วมกันในการดูแลผู้ป่วยที่เป็น IPD เคส หรือผู้ป่วย OPD เคส ในการส่งต่อระบบชัดเจนยิ่งขึ้น

               “ส่วนตัวเป็นโรงพยาบาลชุมชน เราสามารถประยุกต์ความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปใช้ได้ เบ็ดเสร็จในนักกายภาพบำบัด และสามารถนำความรู้นี้ไปถ่ายทอดให้กับจิตอาสา หรือแคร์กิฟเวอร์ ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการฟื้นฟู ทำให้เราดูแลคนได้มากขึ้นและมีคุณภาพมากกว่าเดิม”

            กภ.ณัฏฐพร มั่นไทรทอง นักกายภาพบำบัดปฏิบัติการ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่าที่โรงพยาบาลเริ่มมีนโยบายของการทำ IMC มาบ้างแล้ว แต่อาจจะยังไม่เป็นรูปร่างที่ชัดเจน หลังจากอบรมเริ่มเห็นภาพและเข้าใจในระบบมากขึ้น ก็เริ่มกลับไปพัฒนาในส่วนของ OPD ซึ่งนอกจาก OPD แล้วจะมีคนไข้เป็นผู้ป่วยใน ที่ดูต่อเนื่องตั้งแต่คนไข้เป็นระยะเฉียบพลัน อาการคนไข้จะเริ่มเปลี่ยนเป็นกึ่งเฉียบพลัน ซึ่งเป็นช่วงที่เรียกว่าระยะกลาง โดยเราจะดูแลคนไข้ได้ตั้งแต่เฉียบพลัน ไปจนถึงกึ่งเฉียบพลัน

“หลังจากที่เราเห็นเคสแล้วว่ามีกลุ่มคนไข้จำนวนมาก แล้วได้ทำการฟื้นฟูคนไข้ได้รวดเร็วมากขึ้น ตามบริบทของแต่ละโรงพยาบาล จะนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของโรงพยาบาลตัวเอง  หลังจากที่ได้ลองปรับโปรแกรมแล้ว ทำให้ผลลัพธ์หลังจากที่ทำในช่วงต้นพบว่าคนไข้มีค่าคะแนน สามารถที่จะกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น บางท่านสามารถกลับไปประกอบอาชีพได้ภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือน บางรายที่อาจจะยังไม่ถึงกลับไปประกอบอาชีพได้ แต่ญาติและคนไข้สามารถที่จะดูแลและช่วยเหลือตนเองได้ภายในบ้าน ทำให้ลดความรุนแรงของโรค หรือลดภาวะพึ่งพิงได้”

               กภ.บัณฑิต พรหมมานนท์ นักกายภาพบำบัดชำนาญการ โรงพยาบาลพิบูลมังสาหาร และบัณฑิตคลินิกกายภาพบำบัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราได้เห็นปัญหาว่าคนไข้ได้รับบริการไม่ทั่วถึงและโรงพยาบาลลงไปเยี่ยมติดตามได้น้อย ทำให้คนไข้เริ่มมีปัญหาเข้าไม่ถึงบริการกายภาพบำบัด จึงมีโครงการของ สปสช. ที่เปิดให้ทางคลินิกเข้ามาร่วมก็เลยสมัคร และได้คอนแทคกับนักกายภาพบำบัดที่ว่างจากงานประจำในโรงพยาบาลมาเป็นพาร์ทไทม์ให้ที่คลินิก ทางโรงพยาบาลจึงเริ่มมีนโยบายให้คลินิกเข้ามามีส่วนร่วมโดยมีการส่งข้อมูลผ่านทางแอดมินของโรงพยาบาลมาที่คลินิก และเราก็ส่งต่อให้นักกายภาพของคลินิกที่เป็นพาร์ทไทม์ดูแล

               “สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ผู้เข้าร่วมงานได้เห็นมุมมองระบบจากกระทรวง ลงมาถึงโรงพยาบาล ตั้งแต่โรงพยาบาลศูนย์ จนถึงโรงพยาบาลชุมชน ได้เห็นภาพและระบบวิธีการแนวทางในการนำไปใช้ได้ ส่วนตัวผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้นำงานมาเผยแพร่ให้ทางทีมเห็นความสำคัญกับคนไข้มากขึ้น และอยากให้มีเวทีที่สื่อสารในเรื่องของการทำกายภาพบำบัดกับคนไข้ให้มีประสิทธิภาพ จากประสบการณ์ผมมองว่ากายภาพบำบัดมีประโยชน์กับคนไข้มาก แต่ตอนนี้อัตรากำลังไม่พอ ทำให้คนไข้เสียโอกาส นักกายภาพบำบัดที่เชี่ยวชาญหรือให้ความสำคัญกับ IMC น่าจะมีประโยชน์มาก และอยากให้มีทุกโรงพยาบาลครับ” กภ.บัณฑิต กล่าวเสริม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *