เยาวชนหวั่นน้ำกระท่อมสูตรใหม่ จี้ปรับกม.คุมการเข้าถึง-สกัดโฆษณาหว่านแห
วงเสวนาวันเยาวชนแห่งชาติ ห่วงน้ำกระท่อมสูตรใหม่เกลื่อนเมือง จี้ปรับกม.คุมการเข้าถึงพืชกระท่อม สกัดโฆษณาหว่านแห ดึงเยาวชนเป็นลูกค้า แพทย์ ชี้มีสารเสพติดต้องระวังการใช้ในทางที่ผิด ด้าน“เยาวชนก้าวพลาด” เตือนอุทาหรณ์ ซดน้ำท่อมการเรียนแย่ พัฒนาไปสู่ยาเสพติดอื่น จนติดคุก หวั่นพฤติกรรมสุมหัวดื่ม แก้ว-หลอดเดียวกันเสี่ยงติดโควิด
เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง ร่วมกับ มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาออนไลน์ เนื่องในโอกาสวันเยาวชนแห่งชาติ (20 ก.ย. ของทุกปี) เรื่อง “(ร่าง) พ.ร.บ.พืชกระท่อมกับสังคมไทย ทำอย่างไรถึงจะปกป้องเด็กและเยาวชน”
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด กล่าวว่า กระท่อมถือเป็นพืชที่มีสรรพคุณทางยาแต่ยังต้องค้นคว้าวิจัยเรื่องข้อบ่งใช้อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันต้องเฝ้าระวังเรื่องการใช้ในทางที่ผิดด้วย เพราะกระท่อมมีสารที่ออกฤทธิ์ทำให้เสพติดได้ คือ ไมทราไจนีน (Mitragynine) ออกฤทธิ์เหมือนฝิ่น โดยจะไปออกฤทธิ์ต่อตัวรับในสมอง มีฤทธิ์ลดปวด และเคลิ้มสุขและทำให้เสพติดได้หากใช้ไปนาน ๆ อย่างไรก็ตาม ยังมีสาร 7-hydroxymitragynine อีกตัวที่ออกฤทธิ์ค่อนข้างแรงกว่า จะพบอยู่ประมาณ 2% ในกระท่อม ดังนั้นหากเปิดเสรีเกินไป จึงน่ากังวลว่าในอนาคตหากใช้ในความเข้มข้นสูง หรืออาจจะมีคนพัฒนาสารให้ออกฤทธิ์แรง
“พืชกระท่อมหากใช้น้อยมีฤทธิ์กระตุ้นประสาท แต่ถ้าใช้ปริมาณมากจะกดประสาท กรณีน้ำต้มใบกระท่อมนั้นจะมีความเข้มข้นของไมทราไจนีนสูง เพราะมักใช้ใบจำนวนมาก ทำให้สกัดสารออกมาได้มาก จึงมีฤทธิ์กดประสาทได้พอสมควร ดังนั้นในกฎหมายจึงห้ามใช้ โดยเฉพาะนำไปผสมยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และหากเกิดการเสพติดแล้วอาการถอนจะเหมือนติดฝิ่น เฮโรอีน เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก คลื่นไส้อาเจียน แต่อาจจะไม่ทุกข์ทรมานเท่า แต่ก็ต้องยอมรับว่า เลิกได้ยากเช่นกัน ต้องให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด ยาบรรเทาอาการกระสับกระส่าย ยาช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับ เป็นต้น แต่หลายครั้งคนไข้ก็หวนกลับไปใช้พืชกระท่อมอีกครั้ง เพราะต้องยอมรับว่าสารเสพติดไม่ว่าชนิดไหน หากปล่อยให้ติดแล้วล้วนเลิกยากทั้งสิ้น ที่สำคัญคือพฤติกรรมการดื่มน้ำกระท่อม เช่น การดื่มด้วยแก้วหรือภาชนะเดียวกัน หรือใช้หลอดเดียวกันวนกันดื่มในกลุ่ม เสี่ยงอย่างมากในการติดโควิด” รศ.พญ.รัศมน กล่าว
นายเอ (นามสมมติ) อดีตเยาวชนก้าวพลาด จากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ตนพ้นโทษออกจากสถานพินิจฯ จากคดีจำหน่ายใบกระท่อมเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยพื้นฐานเดิมไม่ได้เป็นเด็กเรียน แต่ก็ไม่ได้เกเรมาก ฐานะที่บ้านก็พอมีพอกิน แต่พอเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ มัธยมศึกษาปีที่ 1 เริ่มคบเพื่อน และรุ่นพี่ชวนกันไปมั่วสุมสูบบุหรี่ กินยาแก้ไอผสมยาแก้ปวด หลังโรงเรียน จากนั้นเริ่มผสมสูตรไปเรื่อยๆ โดยหาซื้อจากร้านยาใกล้โรงเรียน และเริ่มเปลี่ยนมากินน้ำกระท่อมผสมยาบางชนิด เพื่อความสนุก รวมค่าใช้จ่ายแต่ละครั้งมากกว่า 200 บาทขึ้นไป นอกจากนี้ก็เริ่มเสพยาเสพติดชนิดอื่น ทั้งยาบ้า ยาเค และเข้าสู่การเป็นเด็กค้ายา เพราะมีคนเข้ามาชักชวน ทำแบบนี้มาเรื่อยๆ ผลการเรียนแย่ลง จนกระทั่งถูกตำรวจจับตอนอายุ18 ปี กรณีขายใบกระท่อม ศาลตัดสินส่งไปที่ศูนย์แรกรับ ก่อนจะถูกส่งตัวมาที่บ้านกาญนาภิเษก ซึ่งที่นั่นจะมีการสอนวิชาชีวิต วิเคราะห์ข่าวสถานการณ์ต่างๆ และกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตอีกหลายรูปแบบ กิจกรรมจิตอาสาช่วยเหลือสังคม ถือว่าเป็นประโยชน์ในการฝึกระบบการคิด เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้เราไปทำในสิ่งที่ผิด ทำให้เข้าใจปัญหาสังคมและเห็นคุณค่าตัวเอง
“วิถีคนกินน้ำกระท่อมค่อนข้างน่ากังวล ยิ่งในช่วงการระบาดโรคโควิด เพราะพอต้มเสร็จ จะมีแก้วกลางที่กินร่วมกัน ใช้หลอดเดียวกัน ก็ยิ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดมาก หากไม่กินร่วมกันจะถูกมองว่าเรารังเกียจเพื่อนแปลกแยก” เยาวชนก้าวพลาด กล่าว และว่า สำหรับกรณีที่มีการปลดล็อคพืชกระท่อมนั้น ส่วนตัวยังเคยเข้าใจว่าสามารถทำได้ทุกอย่าง ไม่ต้องแอบพก แอบขาย เหมือนในอดีต ยิ่งเป็นเด็กรุ่นหลังคงไม่ทราบเลยว่า ความจริงแล้วมันไม่ได้เสรีขนาดนั้น เชื่อว่าด้วยธรรมชาติของวัยรุ่นที่อยากรู้อยากลอง น่าจะมีการปรับสูตรนำสารอื่นๆ มาผสมแน่ๆ ยิ่งปัจจุบันเข้าถึงง่ายมากผ่านโซเชียลมีเดีย จุดนี้น่าเป็นห่วงมาก อยากให้ผู้ใหญ่ที่กำลังพิจารณากฎหมายมองให้ไกล และเท่าทันต่อสภาพปัญหา ห่วงเด็กและเยาวชนให้มากๆ
นายพิทยา จินาวัฒน์ อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม อดีตรองเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า ต้องทราบก่อนว่าเวลาที่เขาพิจารณาการควบคุม 1.เขาจะดูคุณภาพของคนในประเทศ ทั้งการศึกษา จิตสำนึก การมีรายได้ และ 2.คุณภาพ มาตรการของรัฐ โปร่งใสหรือไม่ การบังคับใช้กฎหมายเป็นอย่างไร จึงเป็นที่มาว่าบางประเทศมีร้านขายกัญชาได้ แต่บางประเทศไม่มี ดังนั้น ในส่วนของไทยต้องไม่เป็นการเสรีเกินไป ควรใช้กฎระเบียบควบคุมตั้งแต่การปลูก การผลิต การขายรวมถึงควบคุมการโฆษณา โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน อย่าลืมบทเรียนเหล้า บุหรี่ ยาชูกำลัง ต้องคาดการณ์ว่าฝ่ายธุรกิจจะทำอะไร การตลาดการโฆษณาจะไปทางไหน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องคิดเผื่อด้วย และเมื่อใช้มาตรการแล้วเห็นช่องว่างจะมีการปรับปรุงอย่างไร ทั้งการออกกฎระเบียบย่อยหรือนโยบายที่เกี่ยวข้อง
นายณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง กล่าวว่า อยากจะเรียกร้องให้มีการปรับเพิ่มสาระของกฎหมายให้คุ้มครองเด็ก เยาวชนในการเข้าถึงพืชกระท่อมด้วย ทั้งแง่ของการจำกัดอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี และควบคุมการโฆษณาส่งเสริมการขายที่ไม่พุ่งเป้ามาที่เด็กและเยาวชน ต้องไม่ให้ดำเนินการได้อย่างเสรี เพราะกระท่อมยังมีสารที่ทำให้เกิดการเสพติด เป็นอันตราย นอกจากนี้ควรเปิดช่องให้สามารถออกอนุบัญญัติ เพื่อควบคุมการขาย การบริโภคที่จะส่งผลต่อเด็ก เยาวชน และประชาชนในอนาคตได้ด้วย เพราะเชื่อว่าจะมีวิวัฒนาการมากขึ้นเรื่อยๆและกฏหมายจะตามไม่ทัน และเร็วๆนี้เครือข่ายเยาวชนฯ จะไปยื่นข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการพิจารณา พรบ.พืชกระท่อม ที่วุฒิสภาอีกด้วย