สสส.ผนึก ภาคประชาชน โรงเรียน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อมงานรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยทางถนน ปลอดโรคโควิด หลังพบเกิดอุบัติเหตถี่ ทำนักเรียนเสียชีวิตหลายพันรายต่อปี
เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จ.พระนครศรีอยุธยา มีการจัดเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรม ” วิถีชีวิตใหม่ รถรับ-ส่งนักเรียน อย่างไร ให้ปลอดภัยห่างไกลโควิด” จัดโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโรค (มพบ.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า ในแต่ละปี ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนจำนวนมาก โดยทุกๆ 1 ชั่วโมงจะเสียชีวิตประมาณ 2 คน กลุ่มอายุ 10-24 ปี มีอัตรการเสียชีวิตมากที่สุดกว่า 25.7% ของจำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนน และส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะเด็กต่างจังหวัดที่ต้องใช้รถจักรยานยนต์ในการเดินทางไปโรงเรียน อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตในเด็กกลุ่มนี้ยังพบด้วยว่าเกิดจากอุบัติเหตุจากรถรับส่งนักเรียน ซึ่งในปี 2561 พบนักเรียนเสียชีวิตสูงถึง 5,131 ราย ดังนั้น เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันลดอุบัติเหตุรถนักเรียนลง โดย สสส.ได้ร่วมทำงานกับ เครือข่ายโรงเรียน ผู้ประกอบการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยใช้พื้นที่จังหวัดอยุธยาติดอันดับจังหวัดที่มีการเสียชีวิตสูง ดังนั้นจึงใช้จังหวัดดังกล่าวในการทำงานเพื่อเป็นโมเดลสร้างความปลอดภัย ลดอุบัติเหตุทางท้องถนน โดยเฉพาะในช่วงนี้จะต้องเรื่องการสร้างความปลอดภัยจากโรคโควิด – 19 ร่วมด้วย เพื่อให้ผู้ปกครองมั่นใจในการส่งบุตรหลานขึ้นรถโรงเรียนแล้วมีความปลอดภัยทางถนนและโรคระบาด ทั้งนี้หากที่อยุธยาทำสำเร็จก็จะมีการปรับใช้ในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
น.ส.ชลดา บุญเกษม หัวหน้าศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.อยุธยา กล่าวว่า เราพบว่าปัญหาในหมู่บ้านคือไม่มีรถโดยสารสาธารณะเข้าถึง ทำให้ผู้ปกครองต้องซื้อรถจักรยานยนต์ให้บุตรหลานเดินทางมาโรงเรียนในเมือง หรือฝากมากับคนที่ทำงานในเมือง ก่อนจะเกิดเป็นอาชีพรับส่งนักเรียน แต่ปัญหาคือมีการใช้รถส่วนตัวที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับคนจำนวนมาก ประกอบกับไม่มีหน่วยงานคอยกำกับติดตามอย่างเป็นระบบ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้ ดังนั้น ทางศูนย์ฯ จึงจัดตั้งกลไกคุ้มครองสิทธิ์ ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ขนส่งจังหวัด ตำรวจ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษา ตลอดจนพนักงานขับรถ เป็นต้น ที่ต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อความปลอดภัยของนักเรียนที่ใช้บริการรถรับส่งนักเรียนในทุกด้าน โดยต้องมีการหารือ และติดตามรายงานผลทุก 2 เดือน
ขณะที่ นายศุภกร การสมบัติ หัวหน้ากลุ่มบริหารงานบุคคลและกิจการนักเรียน โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย กล่าวว่า โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ มีนักเรียน 4.2 พันคน ที่มาจาก 16 อำเภอ และจังหวัดใกล้เคียง โดยมีนักเรียนกว่า 1,000-1,200 คน หรือกว่า 28 % ต้องใช้บริการรถรับส่งนักเรียน อย่างไรก็ตาม เดิมโรงเรียนมองว่าการรับส่งนักเรียนไม่ใช้หน้าที่ของโรงเรียน จึงไม่ได้ติดตามดูแล จนเครือข่ายผู้บริโภคมาชักชวนให้โรงเรียนเข้ามาดูแลเรื่องนี้ ด้วยล่าสุดทางโรงเรียนถือว่างานดูแลเรื่องรถรับส่งนักเรียนเป็นหนึ่งในภารกิจของงานในฝ่ายกิจการนักเรียน ที่ต้องบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยทางโรงเรียนจะทำหน้าที่ประสานงาน และออกใบอนุญาตผู้ประกอบการขับรถรับส่ง การจัดตั้งชมรมและตั้งกลุ่มไลน์เพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารต่างๆ ทั้งนี้หากใครไม่เข้าร่วมอยู่ในกลุ่มก็จะไม่ออกใบอนุญาตรับส่งนักเรียนให้ นอกจากนี้ ทุกปี ในการประชุมผู้ปกครองก็จะมีการให้ประเมินผล และสะท้อนประเด็นปัญหาเรื่องรถรับส่งนักเรียนเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นด้วย เช่น ขับรถเร็วเกินไป หรือรถไม่สะอาด มีการขับรถสุภาพหรือไม่ เป็นต้น
ในส่วนของผู้ประกอบการ น.ส.นภสร สิงหรัตน์ ผู้ประกอบการรถโรงเรียน กล่าวว่า การเดินทางรถโรงเรียนจะเน้นความปลอดภัยเป็นอันดับแรก โดยให้มีการตรวจสอบมาตรฐานและความปลอดภัยของตัวรถสม่ำเสมอ ติดไฟให้สว่าง มีถังดับเพลิง มีฆ้อนฉุกเฉิน และกำหนดให้พนักงานขับรถด้วยความระมัดระวัง ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. นอกจากนี้ยังกำหนดให้รถรับส่ง 1 คัน รับส่งนักเรียน 2-3 แห่ง ไม่เกิน 12 คน ต่อคัน หลังส่งเด็กเสร็จแล้วจะต้องตรวจสอบว่ามีเด็กตกค้างในรถหรือไม่ และย้ำปฏิบัติตามมาตรฐานกรมการขนส่งทางบกอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญในช่วงการระบาดโรคโควิด -19 ได้เพิ่มมาตรการ ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อก่อนและหลังขึ้นรถ มีการตรวจวัดอุณหภูมิ ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือให้เด็กทุกคนก่อนขึ้นรถ เตรียมหน้ากากอนามัยสำรองให้เด็ก เป็นต้น