#นิเทศรังสิต เรียนจริง ปฏิบัติจริง… ฟังรีวิวตรงกับ 3 รุ่นพี่ จิรัชญา-เฌอฟ้า-ฟาดิล
วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เรียนจริงปฏิบัติจริงตั้งแต่ปี 1 การันตีได้ลงมือทำจริงผ่านรายวิชาต่าง ๆ งานนี้ทุกคนได้โชว์ทักษะกันแบบเต็ม อยากรู้ว่าเด็กนิเทศศาสตร์มีวิชาเรียนว้าว ๆ อะไรกับบ้างตามไปดูด้วยกัน
ผศ.อรรถญา พิกุลพารุ่งโรจน์ รองคณบดีฝายวิชาการและวิจัย วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ในทุกภาคเรียนซัมเมอร์และภาคเรียนที่ 1 จะมีการบูรณาการทุกรายวิชาที่นิเทศศาสตร์ดูแล โดยมีรายวิชา RSU111 RSU182 และ RSU161 โดยวัตถุประสงค์ปลายทางคือต้องการสร้างพื้นที่ในการเปิดโอกาสให้นักศึกษาแสดงความสามารถพิเศษในทุกด้าน โดยวางแผนจาก 3 รายวิชาดังกล่าวข้างต้น อย่างเช่น รายวิชาการพัฒนาความสามารถพิเศษด้านนิเทศศาสตร์ (RSU182) จะมีการจัดการแสดงและมีการฉายภาพยนตร์สั้น ส่วนรายวิชาการออกแบบและผลิตสื่อ (RSU161) และรายวิชาสังคมธรรมาธิปไตย (RSU111) เป็นเรื่องของการออกแบบผลิตสื่อสร้างสรรค์ ก็จะนำมาผลงานของนักศึกษามาโชว์บนเวทีกลางเพื่อแลกเปลี่ยนในการจัดกิจกรรมแสดงผลงานของนักศึกษาอีกด้วย ซึ่งปลายทางการเรียนรู้คือการบูรณาการการเรียนการสอนและเปิดพื้นที่ในการโชว์ผลงานสร้างสรรค์ของนักศึกษา
นางสาวจิรัชญา เดือนฉาย นักศึกษาสาขาวิชาการประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าเกี่ยวกับการเรียนรายวิชาสังคมธรรมาธิปไตย (RSU111) ว่าตอนแรกที่เห็นชื่อรายวิชาก็คิดว่าจะเรียนเกี่ยวกับอะไร จะเรียนแต่ทฤษฎีไหม แต่พอได้เข้ามาเรียนแล้ว รายวิชานี้ทำให้ได้ลงพื้นที่ทำงานจริง รู้สึกมีความสุขกับโครงการที่ได้ไปทำมามาก เมื่อได้เห็นน้อง ๆ มีความสุขกับกิจกรรมร้อยลูกปัดที่พวกเราได้เตรียมไปก็มีความสุขไปกับน้อง ๆ ด้วย โดยโครงงานที่ได้ไปทำเป็นการลงพื้นที่ไปจัดกิจกรรมสอนน้องร้อยลูกปัด ทั้งสร้อยคอ สร้อยข้อมือ และอื่น ๆ เพื่อที่น้อง ๆ จะได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และลดการเล่นโทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้ สิ่งที่ได้รับกลับมาจากการเรียนคือได้รู้จักวิธีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อเจอปัญหาในการทำงานและทักษะด้านการสื่อสาร ด้านการเป็นผู้นำ รายวิชานี้ไม่ใช่แค่วิชาที่ให้ออกไปทำโครงงานเพื่อสังคม แต่มีการสอดแทรกแนวคิดเล็ก ๆ ที่แต่ละคนจะได้ต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่าในโครงงานนี้คุณได้ไปทำอะไรมา และได้เจอกับปัญหาอะไร เพราะปัญหาที่คุณพบเจอจะเป็นสิ่งที่พัฒนาตัวคุณ
นางสาวเฌอฟ้า สินมา นักศึกษาสาขาวิชาการภาพยนตร์ดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเกี่ยวกับการเรียนในรายวิชาการพัฒนาความสามารถพิเศษด้านนิเทศศาสตร์ (RSU182) ว่ารู้สึกสนุก เพราะว่าวิชานี้เหมือนได้กลับมาทบทวนตัวเองว่าตัวเองเป็นคนแบบไหน ชอบทำอะไร และได้ลองทำหน้าที่ใหม่ ๆหลายอย่าง สำหรับโครงงานที่ทำคือการผลิตภาพยนตร์สั้น โดยตนเองรับหน้าที่เป็นผู้กำกับและเขียนบทภาพยนตร์สั้นที่ต้องผลิต ระยะหนังสั้นที่กำหนดคือ 5 นาที และต้องนำไปฉายในวัน nitade showcase ซึ่งภาพยนตร์สั้นที่ออกมานั้นค่อนข้างดี เพราะว่าเริ่มทำงานกับเพื่อนใหม่ คนใหม่ ๆ เป็นครั้งแรกอาจจะมีความคิดอะไรหลาย ๆ อย่างต้องปรับจูนกันเข้าหากัน ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น และได้ฝึกทักษะในด้านการผลิตภาพยนตร์ รวมทั้งยังได้เรียนรู้เรื่องการติดต่อประสานงานต่าง ๆ การคิดเชิงสร้างสรรค์ และการนำเสนอผลงานอีกด้วย นับได้ว่าการเรียนรู้ในรายวิชานี้ สามารถช่วยปรับพัฒนาพื้นฐานทางด้านนิเทศศาสตร์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้พัฒนาความรู้เรื่องการออกกอง การผลิตผลงานภาพยนต์ และได้รู้จักตัวเองมากขึ้น
ด้าน นายฟาดิล เจ๊ะเมาะ นักศึกษาสาขาวิชาการสื่อสารการตลาดดิจิทัลและแบรนด์ดิ้ง วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเกี่ยวกับการเรียนในรายวิชาการออกแบบและผลิตสื่อ (RSU161) ว่าเป็นอะไรที่สนุกมาก ตอนแรกแอบเครียด เพราะเคยผิดหวังกับคำว่า Production แต่ก็แอบมั่นใจเล็ก ๆ ว่า จะสามารถเอาชนะความกลัวได้ ความรู้สึกตอนที่ได้เรียนวิชานี้คือตื่นเต้นมาก รู้สึกตื่นเต้นกับทุก ๆ กิจกรรม เพราะว่าเราไม่รู้เลยว่าวันนี้อาจารย์จะให้ทำอะไร ได้ถ่ายรูปโปรไฟล์ ถ่ายรูปโปรไฟล์กลุ่ม Photo Series ได้ทำกราฟฟิก และ Infographic ไปจนถึงผลิตสื่อภาพเคลื่อนไหวหรือว่าวิดีโอ และสำหรับโครงงานที่ทำ Final Project เราได้ทำ Vlog เกี่ยวกับ Work-Study-Life Balance มาจากคำว่า Work-life balance แต่ว่าเราในฐานะที่เป็นนักศึกษาที่เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย จนรู้สึกว่าชีวิตตัวเองไม่ balance และรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุขเลย สำหรับงานนี้เป็นงานเดี่ยว ซึ่งหมายความว่าต้องทำเองทุกกระบวนการผลิต ตั้งแต่การเขียนบท การถ่ายทำ และการการตัดต่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากเพราะว่าเราจะได้ฝึกพื้นฐานและเรียนรู้จากผลงานชิ้นนี้ เรียกว่าเป็นวิชาที่ได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่าง และทุกอย่างจะเป็นพื้นฐานของการผลิตสื่อในทุกรูปแบบ ตอนแรกไม่ชอบถ่ายรูปและรู้สึกว่าตัวเองถ่ายรูปไม่เป็น แต่พอได้พื้นฐานจากวิชานี้ก็รู้สึกว่าทุกอย่างมันง่ายขึ้น เรื่องมุมภาพก็สามารถนำไปใช้ในการทำวิดีโอได้ และได้เรียนรู้ว่ามุมภาพแบบไหนที่เป็น Medium shot แบบไหนที่เป็น Long shot ทุกอย่างได้มาจากวิชานี้เลย และเรื่องการทำมีม และ Real-time content เป็นอะไรที่ใหม่มาก ซึ่งเราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนสื่อสารการตลาดได้ด้วย