18 โครงการจากภาคธุรกิจไทยคว้ารางวัล Women’s Empowerment Principles (WEPs) ประจำปี 2567 ของ UN Women
งานประกาศรางวัล Women’s Empowerment Principles (WEPs) ประจำปี 2567 ซึ่งจัดขึ้นทุกสองปีได้มอบรางวัลให้แก่ 18 องค์กรธุรกิจในไทย ที่ส่งผลงานและแนวทางการดำเนินกิจการโดดเด่นในด้านการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศในทุกส่วนของห่วงโซ่คุณค่า โดยปีนี้ทาง UN Women ได้รับใบสมัครทั้งสิ้น 64 ใบจากองค์กรธุรกิจทั่วประเทศไทย โดยมีตั้งแต่บริษัทขนาดใหญ่ไปจนถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
งานประกาศรางวัล WEPs Awards ประจำปี 2567 ที่ UN Women จัดขึ้นได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศและการค้า (DFAT) รัฐบาลออสเตรเลีย อีกทั้งยังได้ร่วมจัดกับองค์กรภาคีที่สนับสนุนการเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของผู้หญิงในไทย ได้แก่ องค์กร Advantage Austria Bangkok สมาคมการค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็คแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand)
คริสตีน อาหรับ ผู้อำนวยการ UN Women สำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกและผู้แทนประจำประเทศไทย กล่าวว่า “รางวัล WEPs Awards ไม่ได้เป็นเพียงการยกย่องแนวทางการดำเนินธุรกิจเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นทั้งแรงบันดาลใจและแรงขับเคลื่อนให้กับพันธมิตรทางธุรกิจ ซัพพลายเออร์ พนักงาน ลูกค้า และผู้ประกอบการคนอื่น ๆ ในอนาคต ที่ต้องการขับเคลื่อนนวัตกรรมและสร้างความยืดหยุ่นให้แก่องค์กร พร้อมผลักดันเศรษฐกิจไทยและประเทศต่าง ๆ ให้เดินหน้าได้อย่างยั่งยืน ในประเทศไทยเองสัดส่วนของผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารและ CEO อยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก สิ่งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลและภาคเอกชนในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเสริมพลังให้แก่ผู้หญิง”
เพื่อแสดงความขอบคุณผู้นำหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและศักยภาพของผู้หญิงในปีนี้ UN Women ได้มอบโล่เกียรติยศให้แก่ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเชิดชูองค์กรภาครัฐที่เป็นแบบอย่างในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ความยั่งยืน และส่งเสริมหลักการเสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิง
มิเกลล่า ฟิลแบรย์-สตอเร่ ผู้ประสานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ยังได้เสริมต่ออีกว่าความเสมอภาคระหว่างเพศคือฟันเฟืองสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และยังได้ยกย่องประเทศไทยในฐานะผู้นำด้านความเสมอภาคระหว่างเพศในสถานที่ทำงาน ซึ่งมีสัดส่วนผู้หญิงที่เป็น CEO ร้อยละ 41 และ CFO ร้อยละ 43
ภายในงานมีการมอบรางวัลให้แก่ผู้บริหารระดับสูงและผู้นำองค์กรวิสัยทัศน์ไกล และแนวทางการดำเนินกิจการเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศในด้านต่าง ๆ ขององค์กรธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นด้านการออกแบบนโยบายให้ครอบคลุมและตอบโจทย์พนักงานทุกเพศ การนำมิติทางเพศไปพัฒนาสินค้า บริการ และห่วงโซ่คุณค่า รวมถึงการจัดทำโครงการกิจกรรมเพื่อสังคมที่ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ การรายงานความโปร่งใสโดยผนวกมิติทางเพศเข้าไป และการจัดการเงินอย่างมีนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัล SME Champion ให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่นำหลักการ WEPs ไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินธุรกิจอย่างสร้างสรรค์
องค์กรที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากแต่ละสาขาทั้ง 7 องค์กรยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าชิงรางวัล WEPs Awards ในระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกร่วมกับผู้ชนะจากประเทศอื่น ๆ ซึ่งจะมีการประกาศผลในวันที่ 3 ธันวาคมนี้ และถ่ายทอดสดผ่านช่องทาง http://UN Women Asia-Pacific
“การเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจให้กับผู้หญิงจะช่วยให้เศรษฐกิจในเขตลุ่มแม่น้ำโขงมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น การเพิ่มศักยภาพของธุรกิจที่ผู้หญิงเจ้าของและวิสาหกิจที่คำนึงถึงความเสมอภาคระหว่างเพศเป็นกุญแจสำคัญสู่เศรษฐกิจที่ครอบคลุมและภาคธุรกิจที่มั่นคง” ดร.แองเจลา แมคโดนัลด์ เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย กล่าวเสริม
เครือข่าย http://Women’s Empowerment Principles (WEPs) มีบริษัทจากทั่วโลกมากกว่า 10,000 องค์กรเข้าร่วมแล้ว เพื่อนำแนวทางและหลักการเสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิงไปปรับใช้และพัฒนาสถานที่ทำงาน ตลาด และชุมชน ในประเทศไทยมีบริษัทจากทุกขนาดเข้าร่วมเครือข่ายธุรกิจนี้แล้วกว่า 150 องค์กร โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเพิ่มโอกาสที่เท่าเทียม สร้างความร่วมมือและค้นหาโซลูชั่นที่แตกต่างหลากหลาย เพื่อผลักดันความก้าวหน้าในด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ ยกระดับความรับผิดชอบขององค์กร และขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนทั้งในประเทศไทยรวมถึงภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกแปซิฟิก
ผู้นำและองค์กรธุรกิจที่ได้รับรางวัลทั้ง 7 สาขาในประเทศไทย ได้แก่:
สาขาผู้นำองค์กรที่สนับสนุนความความเสมอภาคระหว่างเพศ
รางวัลชนะเลิศ เภสัชกรหญิง กานต์มณี มิติสุบิน
ผู้บริหารฝ่ายกิจการภายนอกและสื่อสารองค์กร
บริษัท ออร์กานอน (ประเทศไทย) จำกัด
รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์
หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล
บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ปิยจิต รักอริยะพงศ์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน)
สาขาสถานที่ทำงานที่มีความความเสมอภาคระหว่างเพศ
รางวัลชนะเลิศ บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด
รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)
รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด
สาขาการตลาดที่คำนึงถึงมิติทางเพศ
รางวัลชนะเลิศ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด
รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง โรงแรม เดอะ สลิล ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน)
สาขาการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศผ่านกิจกรรมชุมชนและอุตสาหกรรม
รางวัลชนะเลิศ บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด
รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด
รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)
สาขาความโปร่งใสและการรายงาน
รางวัลชนะเลิศ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน)
รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน)
สาขาการจัดการเงินอย่างมีนวัตกรรมเพื่อความเสมอภาคทางเพศ
รางวัลชนะเลิศ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
รางวัล SME Champion
รางวัลชนะเลิศ Akha Ma-De (สาขาการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศผ่านกิจกรรมชุมชนและอุตสาหกรรม)
รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง บริษัท ราโมนา จำกัด (สาขาการตลาดที่คำนึงถึงมิติทางเพศ)
รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง สิริปตี พุ่มจันทร์ ผู้ก่อตั้ง ยายสิริ (สาขาผู้นำองค์กรที่สนับสนุนความเสมอภาคระหว่างเพศ)
เกี่ยวกับรางวัล WEPs
รางวัล WEPs Awards มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมคุณค่าและยกย่องความพยายามของบุคคลและภาคเอกชนที่สนับสนุนความเสมอภาคระหว่างเพศในธุรกิจทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เริ่มต้นจากโครงการ WeEmpowerAsia ของ UN Women โดยได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี 2562-2565 สำหรับรางวัล WEPs Awards ประจำปี 2567 นี้ได้จัดขึ้นภายใต้โครงการใหม่ของ UN Women ที่มีชื่อว่า ‘Gender Action Lab: Innovation and Impact for Gender Equality in Asia-Pacific’ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศและการค้าแห่งออสเตรเลีย (DFAT) สำหรับประเทศไทย UN Women ร่วมมือกับ ภาคีในประเทศ ได้แก่ องค์กร Advantage Austria Bangkok สมาคมการค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก (UN Global Compact Thailand) เพื่อผลักดันวาระการเสริมสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศในภาคเอกชน และร่วมเป็นเจ้าภาพจัดรางวัล WEPs Awards ประจำปี 2567 ของประเทศไทย
เกี่ยวกับ Gender Action Lab
รางวัล WEPs ประจำปี 2024 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘UN Women Gender Action Lab: Gender Action Lab: Innovation and Impact for Gender Equality in Asia-Pacific’ ที่ได้ริเริ่มขึ้นโดยการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศและการค้าของรัฐบาลออสเตรเลีย (DFAT) ทั้งนี้โครงการ UN Women Gender Action Lab (GAL) มุ่งที่จะกระตุ้นภาคเอกชนเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมดำเนินงานและสร้างผลกระทบต่อสังคมในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมภาวะความเป็นผู้นำหญิงและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาค โครงการนี้ได้เปิดตัวในระยะเริ่มต้นเป็นเวลา 4 ปี ซึ่งจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ รวมถึงมีกิจกรรมอื่นๆ ทั่วภูมิภาคอาเซียน โครงการ GAL หวังว่าจะเป็นโครงการระยะยาวเพื่อส่งเสริมความเสอภาคระหว่างเพศสำหรับผู้สนับสนุน ผู้มีส่วนร่วมในแต่ละภาคส่วนทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคแปซิฟิก
เกี่ยวกับ UN Women
UN Women เป็นหน่วยงานของสหประชาชาติที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิง UN Women เป็นองค์กรชำนัญพิเศษขององค์การสหประชาชาติที่ทำงานเพื่อผู้หญิงและเด็กหญิง มีหน้าที่เร่งรัดความคืบหน้าในการตอบสนองความต้องการของผู้หญิงและเด็กหญิงทั่วโลก สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่ asiapacific.unwomen.org หรือติดตามเราบนโซเชียลมีเดียได้ที่ @unwomenasia