“บ้านปางยางปรับวิถี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่การคืนผืนป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว”
บ้านปางยาง อ.ปัว จ.น่าน มีชนเผ่าลัวะ 61 ครัวเรือน 279 คน อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา เป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำย่างของแม่น้ำน่าน ที่หล่อเลี้ยงประชากร พื้นที่ 2 อำเภอ คือ ปัวและท่าวังผา ซึ่งอยู่ห่างไกลทุรกันดาร การเข้าถึงบริการพื้นฐานของภาครัฐยากลำบาก มีอาชีพปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และปลูกข้าวไร่หมุนเวียนแต่มีรายได้น้อย ชาวบ้านมีฐานะยากจน ขาดความรู้และทางเลือกในการประกอบอาชีพ ต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกเพื่อให้มีรายได้พอใช้จ่ายในครัวเรือน ในการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกยังคงใช้ไฟเผาช่วยด้วยซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย ใช้แรงงานคนน้อย ประกอบกับใช้สารเคมีมาก เพื่อช่วยในการกำจัดวัชพืชและเศษวัสดุจากการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก ทำให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า
นายเอกรัตน์ จริยา หัวหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางยาง อำเภอปัว จังหวัดน่าน สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. กล่าวว่า โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางยาง ดำเนินการส่งเสริมอาชีพด้วยความรู้ตามแนวทางโครงการหลวง โดยเน้นส่งเสริมการปลูกพืชที่ใช้พื้นที่น้อย ให้ผลตอบแทนสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จัดทำแผนที่ดินรายแปลง เพื่อกำหนดขอบเขตที่ดินทำกินไม่ให้รุกเข้าไปในเขตป่าต้นน้ำ เพื่อให้ชุมชนสามารถสร้างรายได้อย่างพอเพียงและมีความมั่นคงด้านอาหาร ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ชุมชนปางยางเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เกิดการปรับระบบการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เฉลี่ยร้อยละ 80-95 รายได้อยู่ระหว่าง 100,000-250,000 บาท/ครัวเรือน/ปี และมีความมั่นคงด้านอาหารได้ผลผลิตเฉลี่ย 500-600 กิโลกรัม/ไร่ เพียงพอต่อการบริโภคในครอบครัวตลอดทั้งปี แก้ไขปัญหาการขาดความมั่นคงด้านอาหาร และคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีการรวมกลุ่มรายกิจกรรม 8 กลุ่มย่อย ที่มีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ โดยมีผู้นำเกษตรกร 25 คนที่มีศักยภาพในการถ่ายทอดและขยายองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรอื่น ความเชื่อมั่นต่อแนวทางโครงการหลวง ตามที่ สวพส. ส่งเสริมช่วยเหลือเรื่องความมั่นคงอาหารและพัฒนาด้านอาชีพ ทั้งการ การปลูกไม้ผล (อาโวคาโด ทุเรียน) ปลูกพืชในโรงเรือน ยอมปรับการปลูกพืชที่ใช้พื้นที่น้อย แต่ได้ผลตอบแทนสูง ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น นอกจากนี้ ชุมชนสามารถคืนพื้นที่ทำการเกษตรให้เป็นพื้นที่ป่า จำนวน 241 ไร่ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยไม้ผลยืนต้นกว่า 500 ไร่
นายพจน์ อินปา เกษตรกรผู้นำในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางยาง อ.ปัว จ.น่าน กล่าวว่า เมื่อก่อนบ้านปางยาง มีการปลูกข้าวไร่เพื่อบริโภคในครัวเรือน โดยมีการทำไร่หมุนเวียน 5 รอบการหมุนเวียน ซึ่ง 1 ครัวเรือนจะใช้พื้นที่อย่างน้อย 10 ไร่ เพื่อปลูกข้าวไร่ให้เพียงพอต่อการบริโภคทั้งปี และรายได้หลักมาจากการประกอบอาชีพภาคเกษตรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การปลูกข้าวโพดในพื้นที่บ้านปางยางนั้นเป็นพื้นที่ลาดชันจึงทำให้ผลผลิตข้าวโพดน้อยเกษตรกรจึงมีการถางป่าเพื่อปลูกข้าวโพดมากขึ้น 1 ครัวเรือนจะใช้พื้นที่ปลูกข้าวโพด 50 ไร่จึงจะเพียงพอต่อรายได้ เนื่องจากปัจจุบันประสบปัญหาราคาข้าวโพดตกต่ำ ต่อมา สวพส. เข้าดำเนินงานในพื้นที่และนำองค์ความรู้โครงการหลวงเข้ามาเปลี่ยนจากการปลูกข้าวไร่ ปรับเปลี่ยนมาปลูกข้าวนาขั้นบันไดจึงทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มมากขึ้นและทำในพื้นที่นาได้ตลอดทั้งปีจึงไม่จำเป็นต้องไปทำไร่หมุนเวียนเพื่อปลูกข้าวไร่อีก และยังมีการส่งเสริมการปลูกอะโวคาโดเพื่อสร้างรายได้ระยะยาว จากการปลูกอาโวคาโดในพื้นที่ 4 ไร่ 256 ต้น มีรายได้ 180,000 บาทต่อปี นอกจากไม้ผลแล้วยังมีรายได้จากการทำพืชในโรงเรือน ปลูกพริกหวาน มะเขือเทศเชอรี่ และผักกาดขาวปลีเพื่อหมุนเวียนได้ตลอดทั้งปี ทำให้มีรายได้จากการทำพืชในโรงเรือน 300,000 บาทต่อปี ซึ่งใช้พื้นที่เพียง 1 ไร่ จึงทำให้ลดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลง