ประชาสัมพันธ์

ม.รังสิต มอบรางวัลประกวดภาพยนตร์สั้นคุณธรรม หัวข้อ “MINI = MORE” #น้อยแต่มาก

มหาวิทยาลัยรังสิต มอบรางวัลประกวดภาพยนตร์สั้นเพื่อการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ประจำปี พ.ศ. 2567 (Sun Short Film Award) ภายใต้หัวข้อ “MINI = MORE” #น้อยแต่มาก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างค่านิยมด้านคุณธรรม จริยธรรม ส่งเสริมให้ทุกคนตระหนักรู้ถึงการบริโภคอย่างพอดี ไม่หลงใหลไปตามค่านิยมที่ผิด มหาวิทยาลัยรังสิต มองเห็นความสำคัญของภาพยนตร์ที่มีจุดมุ่งหมายเช่นเดียวกันนี้ จึงขอมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่มุ่งมั่นผลิตสื่อเพื่อพาทุกคนไปสู่สังคมธรรมาธิปไตยที่เป็นสุข โดยรางวัลแบ่งเป็นประเภท นักเรียน และนักศึกษา ดังนี้

รางวัลชนะเลิศ Sun Short Film Award (ประเภทนักเรียน) ได้แก่ ภาพยนตร์สั้นเรื่อง บันทึกความดี ทีมปาเกอะญอโพ โปรดักชั่น โรงเรียนบ้านแม่ลิด จังหวัดแม่ฮ่องสอน, รางวัลชมเชย Sun Short Film Award (ประเภทนักเรียน) ได้แก่ ภาพยนตร์สั้นเรื่อง Say hello to the other side ทีม Woodland Production โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, ภาพยนตร์สั้นเรื่อง Cypher ทีมขนมปัง Production โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาจาก และภาพยนตร์สั้นเรื่อง เงินของพ่อ For what we love ทีม SJ Production โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล

รางวัลชนะเลิศ Sun Short Film Award (ประเภทนักศึกษา) ได้แก่ ภาพยนตร์สั้นเรื่อง SCAMMER ทีม TemHouse มหาวิทยาลัยรังสิต และรางวัลชมเชย ภาพยนตร์สั้นเรื่อง วันเกิดมิ้นต์ ทีมสตรอว์เบอร์รีจิ้มพริกเกลือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลั

เด็กหญิงพิชญ์สินี ศรีพจนธรรม ตัวแทนทีมปาเกอะญอโพ โปรดักชั่น โรงเรียนบ้านแม่ลิด จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ Sun Short Film Award (ประเภทนักเรียน) กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ เกินความคาดหวังมาก ขอบคุณเวทีการประกวดที่ทำให้พวกเราได้โชว์ความสามารถในการสร้างสรรค์สื่อเพื่อสังคมที่ดี โดยก่อนจะมาเป็นภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ได้ผ่านกระบวนการต่างๆ ทั้งความคิด บทหนัง การใช้ตัวนักแสดง และเรื่องราวเกี่ยวกับการทำความดีว่าสามารถทำได้โดยไม่ต้องคิดว่าทำความดีแล้วใครจะมองเห็นหรือไม่ พวกเรายังเป็นน้องใหม่ และคิดว่าจะพัฒนาฝึกฝนตนเองในการสร้างสรรค์สื่อดีๆ เพื่อสังคมต่อไป

ภาพยนตร์สั้นเรื่อง “บันทึกความดี” เป็นภาพยนตร์ที่ตั้งคำถามกับผู้ชมว่าการทำความดีต้องให้ใครเห็นหรือไม่ และถ้าทำความดีแต่กลับได้ชั่ว เราจะยังคงทำความดีอีกต่อไปหรือไม่ โดยภาพยนตร์เล่าผ่านตัวละครเด็กวัยประถมสองคน และสามารถเข้าถึงความรู้สึกของเด็กวัยนี้ได้อย่างดี พาผู้ชมเข้าไปในโลกของวัยเด็ก ที่ปัญหาเล็กๆ ก็สามารถเป็นเรื่องใหญ่ได้ ให้เราได้พบกับภาระของเด็กประถม ที่ได้รับมอบหมายให้มีภารกิจบันทึกความดี แต่กลับต้องเจอกับสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจระหว่างการช่วยชีวิตของผู้ป่วยคนหนึ่ง แต่ต้องแลกกับการโดนลงโทษ เพราะจะลงบันทึกความดีกับคุณครูไม่ทัน ทำให้คนดูตั้งคำถามว่า อะไรคือความดีที่แท้จริงกันแน่ ภาพยนตร์เล่าอย่างสนุกสนานทว่าเรียบง่าย มีการตั้งคำถามว่าการทำความดี ต้องให้คนอื่นเห็นหรือไม่ และยังมีคุณค่าหรือไม่ ถ้าไม่มีใครรับรู้เลยว่า ได้กระทำความดีนั้นไปแล้ว โดยแนวคิดทั้งหมดนี้ไม่ได้นำเสนอแบบตรงๆ แต่ค่อยซึมซับทีละนิดผ่านเรื่องราวไร้เดียงสาของเด็กๆ ทำให้มีผลกับผู้ชมเป็นอย่างมาก

ด้าน นายมนัสวิน หินคำ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาการภาพยนตร์ดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ตัวแทนทีม TemHouse ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ Sun Short Film Award (ประเภทนักศึกษา) กล่าวว่า การร่วมส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในครั้งนี้ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับรางวัล เพราะคิดว่าพวกเราร่วมโครงการนี้เพื่ออยากจะพัฒนาและนำความรู้จากการเรียนด้านการผลิตสื่อ มาทำหนังสั้นดีๆ เพื่อสังคม อย่างไรก็ตาม รู้สึกภาคภูมิใจมาก และก็เป็นรางวัลในเวทีนี้แรกที่บอกว่าพวกเราสามารถทำได้ ทุกขั้นตอนและแรงบันดาลใจกว่าจะมาเป็นหนังสั้นเรื่องนี้พวกเราตั้งใจมาก ขอบคุณเวทีประกวด อาจารย์ที่ปรึกษา นักแสดงและทีมงานทุกคน  

ภาพยนตร์สั้นเรื่อง SCAMMER ทีม TemHouse มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงความโลภ ที่เป็นบ่อเกิดของปัญหาทุกอย่าง ความอยากได้ อยากมีเกินพอดี เกิดขึ้นได้กับทุกคน และถ้าเราไม่หยุดมันให้ทันท่วงที ความเสียหายนั้นอาจจะเกินเยียวยา โดยภาพยนตร์นำเสนอเรื่องราวของนักต้มตุ๋น ที่เรียกว่า SCAMMER คอลเซ็นเตอร์ ที่โชคชะตานำพาให้พบกับเหยื่อที่โดนหลอกคนหนึ่ง โดยเขาพยายามนำยอดเงินจากการหลอกลวงเหยื่อ โดยไม่สนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเหยื่อ และสุดท้ายค้นพบความจริงว่า เหยื่อคนนั้นเป็นแม่ของตนเอง และกว่าจะหยุดความเสียหายได้ ทุกอย่างก็สายไปแล้ว จุดเด่นของภาพยนตร์ คือ การเล่าในมุมของนักต้มตุ๋น แทนที่จะเล่าในมุมมองของเหยื่อเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นภาพที่ไม่ได้เห็นบ่อยนัก และเล่าสลับกับสภาพจิตใจของเหยื่อ ขั้นตอนการหลอก การตกหลุมพราง และความกดดันของนักต้มตุ๋นเองว่ามีสภาพจิตใจอย่างไร นอกจากนี้ เรื่องราวยังพาไปพบกับมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์ ในมุมมองของผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ว่าพวกเขามีสภาพการทำงาน ความเป็นอยู่ และทัศนคติอย่างไร ความโลภจะทำยอดเงินจนขาดความเห็นอกเห็นใจเหยื่อ จนทุกอย่างกลายเป็นโศกนาฎกรรมในตอนจบ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *