การศึกษา-ไอที

นวัตกรรม “เทคโนโลยีโฟมดูดน้ำมัน” ผลิตด้วยยางพาราและผักตบชวา ดักจับ ‘น้ำมัน’

2 นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี คิดค้นนวัตกรรม “เทคโนโลยีโฟมดูดน้ำมัน” ผลิตจากน้ำยางพาราและผักตบชวา ชูไอเดียเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อการบำบัดน้ำ เผยจุดเด่น “โฟมยางดักจับเฉพาะน้ำมัน และสามารถใช้ซ้ำมากถึง 50 ครั้ง ส่วนน้ำมันที่ดักจับ นำไปใช้งานต่อได้” การันตีรางวัลเหรียญทอง จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

นายภพธร คล้ายเข็ม (เนม) นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาวิศวกรรมวัสดุและโลหการ และนายพฤติพงศ์ พันธมนัสโสภา (เด่น) นักศึกษาปริญญาเอก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) คิดค้นและพัฒนาผลงานเทคโนโลยีโฟมดูดน้ำมัน (Green Oil-Absorbing Technology) โดยมี รศ.ดร.วารุณี อริยวิริยะนันท์ จาก มทร.ธัญบุรี และ ศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ล่าสุดได้รับรางวัลเหรียญทอง (Gold Awards) ระดับอุดมศึกษา กลุ่มพลังงงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ จากโครงการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับชาติ – Thailand New Gen Innovators Award 2024 (I-New Gen Awards 2024) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในงานวันนักประดิษฐ์ 2567 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ที่ผ่านมา

นายภพธร คล้ายเข็ม เผยว่า จุดเริ่มต้นของนวัตกรรม ‘เทคโนโลยีโฟมดูดน้ำมัน’ มาจากการตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเล และชายหาด ซึ่งส่งผลกระทบอย่างเฉียบพลันและในระยะยาวต่อมนุษย์ สัตว์หรือสิ่งมีชีวิตในทะเลและบนบก สิ่งแวดล้อม รวมถึงระบบนิเวศ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการดูดซับน้ำมันจึงมีความสำคัญและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ร่วมกันหาวัสดุรอบตัวเพื่อนำมาจัดการกับปัญหาดังกล่าว และได้รู้จักกับรุ่นพี่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งสนใจในด้านวัสดุและเคมีชีวภาพ และเขาได้วิจัยการสกัดผลึกนาโนเซลลูโลสจากผักตบชวา จึงได้ขอคำปรึกษาและชักชวนมาร่วมกันทดลองและผลิตโฟมดูดน้ำมัน จากผักตบชวาและยางพารา

 ด้าน นายพฤติพงศ์ พันธมนัสโสภา กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการผลิตเทคโนโลยีโฟมดูดน้ำมันโดยสรุปว่า เริ่มต้นจากการนำผักตบชวาไปตากแดดหรืออบให้แห้ง จากนั้นบดให้มีขนาดเล็กลงจนเป็นเส้นใย แล้วนำไปทำความสะอาดด้วยวิธีการฟอกจนได้เป็นสีขาว ขั้นตอนต่อไปคือการบดให้ละเอียด แล้วสกัดจนออกมาเป็นผลึกนาโนเซลลูโลส จากนั้นนำไปผสมกับน้ำยางพาราบริสุทธิ์ ขึ้นรูปจนได้โฟมยาง และได้ศึกษาประสิทธิภาพการดูดซับน้ำมัน ประสิทธิภาพการนำกลับมาใช้ซ้ำร่วมด้วย ที่ได้ทดสอบกับน้ำมันชนิดต่าง ๆ ร่วมด้วย

จุดเด่นของผลงานนี้ เมื่อมีน้ำและน้ำมันปะปนกันอยู่ โฟมจะทำหน้าที่ดักจับเฉพาะน้ำมัน และเมื่อรีดน้ำมันออกสามารถนำโฟมไปใช้ซ้ำได้อีกมากกว่า 40-50 ครั้ง รวมถึงน้ำมันที่ดักจับได้ สามารถนำไปใช้งานต่อไป ขณะเดียวกับโฟมยางที่พัฒนาขึ้นนี้ มีน้ำหนักเบา ต้นทุนต่ำ เคลื่อนย้ายได้ง่ายทำให้สะดวกต่อการนำไปใช้งาน และยังสามารถขึ้นเป็นรูปทรงต่าง ๆ ได้อีกด้วยเพื่อให้ง่ายและเข้าถึงต่อพื้นที่ และผลงานดังกล่าวยังถือเป็นการแก้ปัญหาใน 2-3 มิติ กล่าวคือการลดปัญหาวัชพืชของผักตบชวา และสนับสนุนการใช้ยางพาราให้มีความแพร่หลายมากยิ่งขึ้น เมื่อเข้าสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์” เจ้าของผลงาน อธิบาย

ขณะที่ รศ.ดร.วารุณี อริยวิริยะนันท์ อาจารย์ที่ปรึกษาระดับบัณฑิตศึกษา หลักสูตรวิศวกรรมวัสดุ อธิบายเสริมว่าหลักสูตรของคณะวิศวกรรมศาสตร์ เน้นการทำงานวิจัยที่นอกจากจะตีพิมพ์ได้ระดับฐานข้อมูลสากล แล้วยังพยายามออกแบบแนวคิดให้นักศึกษาได้หันมาสนใจการทำนวัตกรรมควบคู่กันโดยมีต้นแบบจากรุ่นพี่ในแลป และส่งเสริมให้เข้าร่วมการประกวดผลงานทั้งในระดับชาติและนานาชาติ โดยเน้นผลงานที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง จึงเป็นที่มาของผลงานดังกล่าว

ผลงานเทคโนโลยีโฟมดูดน้ำมันนี้ช่วยแก้ปัญหาที่หลากหลาย โดยเฉพาะประเด็นด้านพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ เตรียมขยายสเกลและนำไปทดลองจริงต่อไป ควบคู่กับการพัฒนาคุณสมบัติที่มากยิ่งขึ้นต่อไป และเป็นนวัตกรรมเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำให้มีสภาพพร้อมใช้ ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 549 3400

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *