การศึกษา-ไอที

ม.วลัยลักษณ์ปลื้ม ได้รับการจัดอันดับโลกด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน​ จาก THE Impact Ranking เป็นครั้งแรก

ผลงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDG) ของม.วลัยลักษณ์ เข้าสู่การจัดอันดับโลกเป็นครั้งแรก จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย THE Impact Ranking ปี 2021 โดยม.วลัยลักษณ์อยู่ในอันดับที่ 601-800 ของโลก อันดับที่ 15 ของประเทศไทย

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า หลังจากที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ส่งข้อมูลเพื่อเข้ารับการจัดอันดับมหาวิทยาลัย จาก THE Impact Rankings 2021 เกี่ยวกับการดำเนินภารกิจด้านการพัฒนาแบบยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) ตามกรอบขององค์การสหประชาชาติ โดยมหาวิทยาลัยได้ส่งข้อมูลเกี่ยวกับ SDG จำนวน 7 ตัวชี้วัด จากทั้งหมด 17 ตัวชี้วัด ซึ่งผลการพิจารณาเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564  ที่ผ่านมา ปรากฎว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 601-800 ของโลก จากมหาวิทยาลัย 1,240 แห่งทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 15 ของประเทศไทย อยู่ในกลุ่มเดียวกับ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ม.แม่ฟ้าหลวง ม.สงขลานครินทร์ และม.ธรรมศาสตร์

“หลังจากที่ม.วลัยลักษณ์ได้เข้าไปอยู่ในกลุ่ม มหาวิทยาลัยวิจัยแนวหน้าของโลก(Frontier Research University) ตามนโยบายของกระทรวงอว. ม.วลัยลักษณ์ได้พัฒนาผลงานวิจัยให้มีคุณภาพ คณาจารย์ทุกคนได้ร่วมกันขับเคลื่อนการวิจัยอย่างเข้มข้น ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีจำนวนผลงานวิจัยมากขึ้นแบบก้าวกระโดด และผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Q1,Q2 กว่า 67% มีการอ้างอิงสูง ซึ่งการได้รับการจัดอันดับจาก THE Impact Rankings ครั้งแรกนี้ ถือเป็นความสำเร็จและเป็นความภาคภูมิใจร่วมกันพวกเราชาววลัยลักษณ์ ในอนาคตเราจะขยายการขับเคลื่อนเพิ่มเติมในบทบาทอื่นๆให้มากยิ่งขึ้น และเชื่อว่าเราจะมีอันดับที่ดีขึ้นด้วย ที่สำคัญขณะนี้มหาวิทยาลัยกำลังเตรียมส่งผลงานในภาพรวมคุณภาพมหาวิทยาลัยในทุกด้าน เพื่อเสนอให้ THE Impact Rankings พิจารณาจัดอันดับโลกในปี 2565 ต่อไป” ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าว

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร. สุรินทร์ ไหมศรีกรด รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศและพัฒนาการเรียนการสอน ในฐานะผู้ดูแลการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่ระดับโลกของม.วลัยลักษณ์ กล่าวเสริมถึง 7 ตัวชี้วัดที่ม.วลัยลักษณ์ส่งให้ THE Impact Rankings พิจารณา ประกอบด้วย ตัวชี้วัด SDG2: Zero Hunger (ขจัดความหิวโหย) , SDG3: Good Health and Well-being (สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี), SDG4: Quality Education (คุณภาพการศึกษา) , SDG6: Clean Water and Sanitation (การจัดการน้ำและสุขาภิบาล), SDG9: Industry, Innovation and Infrastructure (โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรมและอุตสาหกรรม), SDG14: Life Below Water (ทรัพยากรทางทะเล) และ SDG17: Partnerships for the Goals (ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) ซึ่งในส่วนของ SDG2,6และ14 ม.วลัยลักษณ์ได้รับการจัดอันดับที่ 201-300 อยู่ในกลุ่ม Top 10 ของประเทศเลยทีเดียว

ทั้งนี้การจัดอันดับดังกล่าวใช้เกณฑ์การประเมินมหาวิทยาลัยตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ SDG ผ่านการประเมินตัวชี้วัดที่ได้รับการสอบเทียบอย่างรอบคอบ โดยครอบคลุมตัวชี้วัดที่สร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ในมิติการศึกษา การวิจัย การดำเนินงาน และกิจกรรมการมีส่วนร่วมของสาธารณะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *