ประชาสัมพันธ์

“จุรินทร์” ชี้นโยบายเปิดกว้างสู่ภายนอกของจีน ส่งผลดีต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกเดินหน้าขยายความร่วมมือเศรษฐกิจการค้า ไทย-จีน ในโอกาสเจ้าภาพจัดประชุม APEC 2022

“จุรินทร์” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ชี้คำกล่าว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จากประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) ครั้งที่ 20 ที่ผ่านมา ที่ประกาศขยายความร่วมมือกับนานาประเทศ จะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกหลังโควิด-19 คลี่คลาย โอกาสไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม APEC 2022 พร้อมผนึกกำลังจีน เดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ การค้า และรับมือกับความเปลี่ยนแปลง

จากคำกล่าวของ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ณ การเปิดประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) ครั้งที่ 20 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ กรุงปักกิ่ง ซึ่งได้มีการเสนอข้อกำหนดและทิศทางใหม่ในการที่จีนมีส่วนร่วมสร้างประชาคมมนุษยชาติที่มีอนาคตร่วมกัน โดยยึดมั่นในเป้าหมายของนโยบายระหว่างประเทศ มุ่งรักษาสันติภาพของโลก และส่งเสริมการพัฒนาร่วมกัน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การเปิดประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจ จากถ้อยแถลงดังกล่าวของท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง สะท้อนถึงแนวทางการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศจีนในอนาคต และความพยายามของจีนที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศภายใต้สถานการณ์ระหว่างประเทศที่ซับซ้อน ทั้งในเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งหากมองถึงความสำเร็จในการพัฒนาของจีนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนมีความมั่นคง และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รวมทั้งยังประสบความสำเร็จในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพในการพัฒนาของจีนที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

ทั้งนี้ จากนโยบายเปิดกว้างสู่ภายนอกของจีน โดยผลักดันความร่วมมือภายใต้โครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” การเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับนานาประเทศตามรูปแบบการพัฒนาของจีน และส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจโลกที่เปิดกว้าง ทำให้ทั่วโลกได้ตระหนักว่า จีนมีขีดความสามารถและศักยภาพที่จะดำเนินความร่วมมือกับทั่วโลก เพื่อเพื่อเสริมสร้างประโยชน์ระหว่างกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง

หนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จในการพัฒนาประเทศของจีนที่ชัดเจนคือ การดำเนินการเพื่อบรรเทาความยากจนและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ถือเป็นแบบอย่างที่น่าเรียนรู้ เพราะแม้จีนเป็นประเทศขนาดใหญ่ มีประชากรถึง 1.4 พันล้านคน แต่สามารถขจัดความยากจนและพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ชนบทได้ในระยะเวลาอันสั้น

“จีนไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภายในประเทศ แต่ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมคุณค่าร่วมกันของมวลมนุษยชาติ และขยายความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ของทุกฝ่าย ทั้งในด้านการค้าพหุภาคี การแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ร่วมกัน และการพัฒนาระบบนิเวศสีเขียว ซึ่งจากนโยบายเปิดกว้างสู่ภายนอกของจีนจากการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ล่าสุด เชื่อว่าจากนี้จะทำให้จีนมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในความร่วมมือระดับนานาชาติ” นายจุรินทร์ กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงเวลาภายหลังจากการประชุมสมัชชาใหญ่ ครั้งที่ 20 น่าจะเป็นศักราชใหม่ของการกระชับความร่วมมือระหว่างไทยและจีน เพราะในขณะที่จีนจะเริ่มต้นการเดินทางสร้างประเทศสังคมนิยมสมัยใหม่ในทุกด้าน ประเทศไทยก็มียุทธศาสตร์ระดับชาติ 20 ปี เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งทำให้ทั้งสองประเทศมีโอกาสที่จะร่วมมือกันส่งเสริมและขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ นวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัล พลังงานสะอาด โลจิสติกส์ การอำนวยความสะดวกทางการค้า และการท่องเที่ยว
สำหรับปีนี้ในวาระครบรอบ 10 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างจีน-ไทย ตลอดเวลาที่ผ่านมาความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและจีน มีพัฒนาการที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งเสริมความสอดคล้องระหว่างข้อนโยบายที่สำคัญของไทย อาทิ ไทยแลนด์ 4.0 และโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) กับข้อริเริ่ม ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง’ ของจีน ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศเชื่อมโยงกันอย่างแน่นแฟ้น โดยในปี พ.ศ. 2564 การค้าของไทยและจีนมีมูลค่าถึง 103,818.88 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยต่อเนื่องหลายปี นอกจากนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมาทั้งไทยและจีน ยังมีการแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรมและการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
“สิ่งหนึ่งที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ คือ ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไทยและจีนก็ยืนอยู่เคียงข้างช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยรัฐบาลจีนได้จัดหาเวชภัณฑ์และวัคซีน รวมทั้งส่งมอบห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อโควิด-19 ให้กับประเทศไทยด้วย ซึ่งมิตรภาพที่จีนมอบให้ดังกล่าว เป็นที่ซาบซึ้งใจของทุกฝ่าย” นายจุรินทร์ กล่าว

ทั้งนี้ เชื่อว่าทุกภาคส่วนในประเทศไทยและจีน ยินดีที่จะดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายและวิสัยทัศน์ ในการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน เพื่อสร้างมิติใหม่ของ “ไทยจีนใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” รวมทั้งขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ที่ครอบคลุมรอบด้านระหว่างอาเซียน-จีน อีกด้วย ซึ่งในโอกาสที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค 2022 ที่จะถึงนี้ พร้อมร่วมกับประเทศจีนในการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจการค้า รวมทั้งผนึกกำลังเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และความไม่แน่นอนต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าในภูมิภาคด้วย
นายจุรินทร์ ยังได้กล่าวถึง นครหนานหนิงในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับอาเซียนและไทย ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบเชิงที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และมีงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (China-ASEAN Expo) เป็นประจำ ซึ่งช่วยเปิดโอกาสให้สินค้าของประเทศสมาชิกอาเซียนและไทย สามารถเข้าสู่ตลาดจีนได้มากยิ่งขึ้น ที่ตั้งแห่งนี้ยังเปรียบเสมือนประตูสู่อาเซียน และสะพานเชื่อมโยงความสัมพันธ์ไทย-จีน โดยในรายงานการประชุมสมัชชาใหญ่ฯ ครั้งที่ 20 ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งเชื่อมโยงทางบกกับทางทะเลมากขึ้น โดยเฉพาะการสนับสนุนการใช้ท่าเรือชินโจว ให้เป็นเส้นทางขนส่งสำคัญในอนาคต
“ผมมีความยินดีอย่างยิ่งที่ทราบว่า มีนักศึกษาจากกว่างซีจำนวนมากที่สนใจเข้ามาศึกษาในประเทศไทย ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและเป็นมิตรของประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ อันเป็นรากฐานอันแข็งแกร่งสำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกันด้วย” นายจุรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *