การศึกษา-ไอที

ม.วลัยลักษณ์ พร้อมจับมือภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนโครงการ “กระบี่โมเดล”

ม.วลัยลักษณ์ พร้อมจับมือภาคีเครือข่าย ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ “กระบี่โมเดล”  นำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เสริมความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี  ผู้อำนวยศูนย์บริการวิชาการม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ตนพร้อมด้วย รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ และบุคลากรจากม.วลัยลักษณ์ ได้ประชุมร่วมกับ ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ จ.กระบี่  และนักวิจัยจากม.สงขลานครินทร์   เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนโครงการกระบี่โมเดล นำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ กล่าวว่า ศูนย์บริการวิชาการ ม.วลัยลักษณ์ในบทบาทของหน่วยงานบูรณาการความร่วมมือนำวิชาการ องค์ความรู้ นวัตกรรม จากมหาวิทยาลัยสู่การใช้ประโยชน์ต่อชุมชนสังคม มีความพร้อมอย่างมากในการสร้างความร่วมมือระหว่างอาจารย์ภายในมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเครือข่าย ภาครัฐ เอกชน และชุมชนเป้าหมาย สร้างแนวทางการทำงานแบบบูรณาการในประเด็นที่เป็นเป้าหมายของกระบี่โมเดล โดยจะนำองค์ความรู้ไปเติมเต็มต่อยอดงานที่ดำเนินการมาแล้วในปีที่ 1 เช่น การยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของเกษตรกรปาล์ม เห็ด สาหร่าย รวมทั้งผู้เลี้ยงแพะ และกลุ่มผู้ประกอบการผ้าบาติก

นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ยังเตรียมจัดทำโครงการใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับรายได้ชุมชนชายฝั่ง และการเลี้ยงชันโรง ในสวนปาล์ม เป็นต้น  ทั้งนี้ขอขอบคุณผู้สนับสนุนโครงการกระบี่โมเดลทุกภาคส่วน และมีความมั่นใจว่าจะจับมือภาคีเครือข่ายดำเนินโครงการกระบี่โมเดลให้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม สู่การสร้างรายได้เพิ่มและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรต่อไป

ด้าน ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน กล่าวถึงโครงการกระบี่โมเดลว่า เป็นโครงการที่มุ่งแก้ปัญหาความยากจน สร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและชุมชนในระดับฐานรากเพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ โดยเฉพาะรายได้จากพืชหลักที่เกษตรกรดำเนินการอยู่ ให้มีประสิทธิผลและมีคุณภาพของผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น โดยการนำเอาความรู้ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาแก้ปัญหา โดยได้ตั้งเป้าเพิ่มรายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นเดือนละ 1 หมื่นบาทต่อครัวเรือน

“เราเล็งเห็นว่ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อม ทั้งมีนักวิจัยที่มีองค์ความรู้และเทคโนโลยีขั้นสูงที่จะสามารถช่วยเกษตรกรได้ ในปีนี้จึงมอบหมายให้ม.วลัยลักษณ์เข้ามาร่วมขับเคลื่อนโครงการกระบี่โมเดลในฐานะผู้นำโครงการ และจะมีการทำงานร่วมกับม.สงขลานครินทร์และม.อื่นในเครือข่าย ตลอดจน ส.ส.ในพื้นที่และชาวบ้าน ซึ่งจะเป็นมิติใหม่ของการทำงานในพื้นที่จริงร่วมกัน”ศ.ดร.กนก กล่าว

ด้าน น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล กล่าวเสริมว่า แนวคิดสำคัญในการขับเคลื่อนกระบี่โมเดล คือ การใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม กลับมาสร้างรายได้ให้เกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก อย่างน้อยเดือนละ 10,000 บาท อย่างยั่งยืน ซึ่งดำเนินการใน 5 ผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย การเพิ่มผลผลิตปาล์มคุณภาพ การเลี้ยงแพะในสวนปาล์ม การเลี้ยงสาหร่ายขนนก การเพาะเห็ดเยื่อร่างแห และสร้างสรรค์งานบาติกโบราณโดยใช้สีย้อมธรรมชาติ  อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากระบี่โมเดล สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในแนวคิดในการทำงาน ให้แก่นักวิจัย นักวิชาการ นำเอาองค์ความรู้ที่สามารถสร้างรายได้และประสิทธิภาพในการผลิตให้เศรษฐกิจฐานรากให้กับเกษตรกร และชาวบ้านได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *