อาจารย์เทคนิคการแพทย์ ม.รังสิต คว้า 5 รางวัลผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมจากเวที 2025 Japan Design, Idea and Invention Expo (JDIE 2025)
อาจารย์ประจำคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้รับ 5 รางวัล จากการส่งผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่เข้าร่วมประกวดและจัดแสดงในงาน 2025 Japan Design, Idea and Invention Expo (JDIE 2025) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลงานวิจัยร่วมระหว่างทีมวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศทางวิจัยด้านไบโอเซนเซอร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ดร.ศรัณย์ธรรม์ ภูริจารุยางกูร อาจารย์ประจำคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า อาจารย์ได้มีโอกาสเข้าร่วมแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่เข้าร่วมประกวดและจัดแสดงในงาน 2025 Japan Design, Idea and Invention Expo (JDIE 2025) 🇯🇵 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลงานวิจัยร่วมระหว่างทีมวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศทางวิจัยด้านไบโอเซนเซอร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยมี ศ. เกียรติคุณ ดร.โกสุม จันทร์ศิริ เป็นหัวหน้าโครงการ โดยนำผลงานเข้าร่วมประกวด 4 ผลงาน ได้รับรางวัล จำนวน 5 รางวัล ได้แก่ รางวัลเหรียญทอง จำนวน 3 รางวัล ดังนี้ 1. ผลงานเรื่อง “ชุดทดสอบดีเอ็นเอแบบแถบสำหรับยีนดื้อยา oxa23 และ oxa51is” (CRAB DNA STRIP Test (oxa23 & oxa51is) 2. ผลงานเรื่อง “ชุดทดสอบดีเอ็นเอแบบแถบสำหรับเชื้อ Leptospira spp. พร้อมอ่านผลด้วยโทรศัพท์มือถือ” (Leptospiral DNA Rapid Smart test) 3. ผลงานเรื่อง “ชุดทดสอบเชื้อเอ็นดีไวรัสด้วยเทคนิคแลมป์ร่วมกับสี Hydroxy Naphthol Blue พร้อมอ่านผลด้วยระบบอัจฉริยะ” (Colorimetric NDV Smart Test) รางวัลเหรียญเงิน จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ ผลงานเรื่อง “ชุดทดสอบดีเอ็นเอแบบแถบสำหรับเชื้อดื้อยาแวนโคมัยซิน” (VRE DNA Strip Test) และรางวัลพิเศษ NRCT AWARD จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ ผลงานเรื่อง “ชุดทดสอบดีเอ็นเอแบบแถบสำหรับเชื้อ Leptospira spp. พร้อมอ่านผลด้วยโทรศัพท์มือถือ” (Leptospiral DNA Rapid Smart test)
สำหรับที่มาของการส่งผลงานเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงในครั้งนี้ ดร.ศรัณย์ธรรม์ กล่าวว่า เป็นการนำเสนอผลงานนวัตกรรมที่ทีมวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศทางวิจัยด้านไบโอเซนเซอร์ มศว. และคณะเทคนิคการแพทย์ ม.รังสิต ร่วมกันผลิตผลงาน และเพื่อเป็นการแสดงศักยภาพของทีมวิจัยจากทั้ง 2 มหาวิทยาลัยให้เป็นที่รู้จักในเวทีระดับนานาชาติ

จุดเด่นของผลงานที่ได้รับรางวัล ทั้ง 4 ผลงาน เป็นชุดทดสอบโรคติดเชื้อที่พบได้ทั้งในคนและสัตว์ ซึ่งมีประโยชน์ในแง่ของการวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็ว สามารถทดสอบในระยะเวลาสั้นให้ผลความไวในการทดสอบและความจำเพาะสูง โดยมีทั้งการตรวจหายีนดื้อยาจากเชื้อที่พบว่าเป็นเป็นปัญหาทางการแพทย์ เช่น
-ชุดทดสอบดีเอ็นเอแบบแถบสำหรับยีนดื้อยา oxa23 และ oxa51is สำหรับตรวจเชื้อแบคทีเรีย Acinetobacter baumannii ที่ดื้อยาต้านจุลชีพ
-ชุดทดสอบดีเอ็นเอแบบแถบสำหรับเชื้อดื้อยาแวนโคมัยซิน สำหรับตรวจเชื้อแบคทีเรีย Enterococcus ที่ดื้อยาแวนโคมัยซิน
นอกจากนี้ ยังมีชุดทดสอบดีเอ็นเอแบบแถบสำหรับเชื้อ Leptospira spp. พร้อมอ่านผลด้วยโทรศัพท์มือถือ เป็นการพัฒนาวิธีการตรวจเชื้อก่อโรคฉี่หนูที่พบว่า ในประเทศไทยเรายังมีอัตราการติดเชื้อที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในเกษตรกร ข้อดีของงานวิจัยนี้คือ สามารถอ่านผลการทดสอบผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ
สำหรับชุดทดสอบเชื้อเอ็นดีไวรัสด้วยเทคนิคแลมป์ร่วมกับสี Hydroxy Naphthol Blue พร้อมอ่านผลด้วยระบบอัจฉริยะ เป็นชุดทดสอบที่สามารถนำไปใช้ในปศุสัตว์โดยเฉพาะสัตว์ปีกซึ่งพบว่าเชื้อเอ็นดีไวรัสสามารถก่อให้เกิดโรคได้บ่อย ซึ่งเป็นชุดทดสอบที่สามารถอ่านผลการทดสอบผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือได้เช่นกัน
“รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ผลงานของทีมวิจัยประสบความสำเร็จ ได้รับการยอมรับในเวทีระดับนานาชาติ ซึ่งบุคคลที่ต้องขอบคุณมากที่สุดคือ ศ. เกียรติคุณ ดร.โกสุม จันทร์ศิริ อาจารย์ผู้เป็นหัวหน้าโครงการ ทุกผลงานอาจารย์ดูแลให้คำแนะนำและคอยผลักดันทีมวิจัยให้มีการพัฒนาอยู่เสมอ จนทำให้ได้รับความสำเร็จในทุกเวทีระดับนานาชาติที่นำผลงานไปประกวด นอกจากนี้ ยังขอขอบคุณศูนย์ความเป็นเลิศทางวิจัยด้านไบโอเซนเซอร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะเทคนิคการแพทย์ และสถาบันวิจัย ม.รังสิต ที่สนับสนุนให้นำผลงานไปประกวดทุกครั้งจนสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย” ดร.ศรัณย์ธรรม์ กล่าว