Sunday, April 13, 2025
Latest:
การศึกษา-ไอที

นิทรรศการศิลปนิพนธ์ 43 ผลงานสำคัญ บ่มเพาะศิลปินคุณภาพ จากรั้ว มทร.ธัญบุรี สู่ใจกลางกรุงเทพฯ

ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี เปิดนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะของผู้ทรงคุณวุฒิ คณาจารย์ และผลงานศิลปนิพนธ์ โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ณ หอศิลป์ ASVN ใจกลางกรุงเทพฯรวม 43 ผลงาน ตอกย้ำความมุ่งมั่นเพื่อบ่มเพาะคนคุณภาพ พร้อมสู่วงการศิลปะร่วมสมัย

คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เปิดนิทรรศการศิลปนิพนธ์ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาทัศนศิลป์ ครั้งที่ 34 ระหว่างวันที่ 9–22 เมษายน 2568 ณ หอศิลป์ ASVN (พื้นที่โรงถ่ายภาพยนตร์อัศวิน) เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจาก พลอากาศเอกจอม รุ่งสว่าง องคมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย พันเอก หม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคล และภริยา เข้าร่วม ซึ่งจัดแสดงผลงานรวมทั้งหมด 43 ผลงาน ที่สะท้อนตัวตน ความคิด และแรงบันดาลใจของนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเติบโตสู่ความเป็นมืออาชีพ

พลอากาศเอกจอม รุ่งสว่าง ประธานในพิธีเปิด กล่าวตอนหนึ่งว่า “รู้สึกยินดีที่ได้เห็นมุมมองและความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนนักศึกษา รวมถึงได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงาน ขอบคุณนักศึกษาทุกคนที่สร้างสรรค์ผลงานเพื่อสุทรียภาพ จรรโลงสังคม การจัดแสดงผลงานทั้ง 43 ผลงานที่สำคัญนี้ จะช่วยเสริมความเป็นมืออาชีพ และยังบ่งบอกถึงศักยภาพของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ได้อย่างชัดเจน”

ด้าน อาจารย์วรรษกร คงถาวร ประธานหลักสูตรสาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า การจัดนิทรรศการในพื้นที่หอศิลป์ ASVN ซึ่งตั้งอยู่ในโรงถ่ายภาพยนตร์อัศวิน ใจกลางกรุงเทพฯ ถือเป็นการเชื่อมโยงศิลปะเข้ากับบริบทวัฒนธรรมอย่างแท้จริง ภายใต้แนวคิด Natural (ธรรมชาติ) Faith (ความเชื่อ) และ Reminiscent (ความทรงจำ) ที่รวมกันเป็นคำว่า ‘NAFAREM’ แนวคิดนี้ไม่เพียงเป็นธีมของนิทรรศการเท่านั้น แต่ยังสะท้อนอัตลักษณ์ของนักศึกษาแต่ละคน ผ่านเทคนิคและองค์ประกอบศิลป์ที่พัฒนาอย่างลุ่มลึก จากการเรียนรู้และประสบการณ์ตลอดหลักสูตร

ขณะที่ อาจารย์ยงยุทธ สกุลชาตรี อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี อธิบายเพิ่มเติมว่า ผลงานศิลปนิพนธ์ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 แต่ละชิ้นคือผลลัพธ์ของการค้นคว้า ทดลอง และตกผลึกทางความคิดอย่างต่อเนื่อง เป็นทั้งองค์ความรู้ ความสำเร็จ และประสบการณ์ร่วมสมัยที่ผสานกันอย่างกลมกลืน ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของการเติบโตสู่การเป็นศิลปินมืออาชีพในอนาคต และพร้อมสู่โลกการทำงาน

ตัวอย่างผลงานของนักศึกษาในครั้งนี้ (1) ผลงาน ‘ภายนอกที่แตกต่าง’ โดย นางสาวชลลดา เจริญจิตร แนวคิด-มนุษย์มีรูปร่างภายนอกที่แตกต่างกันทุกคน ทั้งหน้าตาและรูปร่าง ทรงผม รวมไปถึงกาย แต่งกาย และสีผิว ทุกคนมีความแตกต่างและโดดเด่นเป็นของตัวเอง จึงไม่ควรเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นจนเกิดความไม่มั่นใจภายในจิตใจ (2) ผลงาน ‘จิตวิญญาณแห่งชีวิต’ โดย นายนิธิศ หัตถกรรม แนวคิด- นำเสนอผลงานผ่านรูปทรง โดยแสดงถึงการต่อสู้ในชีวิตประจำวัน ผ่านธรรมชาติและสิ่งมีชีวิต ที่ต่อสู้เพื่อชีวิตรอด เป็นสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิต การกระทำต่าง ๆ ล้วนเป็นอุปนิสัยของสิ่งมีชีวิต ซึ่งนำเสนอ ทัศนธาตุ จุด เส้น พื้นผิว ลด สกัด ตัดทอน เป็นนามธรรม ที่แสดงถึงพลังที่ยิ่งใหญ่อันไม่สิ้นสุดของพลังธรรมชาติ (3) ผลงาน ‘ห้วงเวลาฝันหวาน’ โดย นางสาวกุลจิรา ปัญญา แนวคิด-สื่อเรื่องราวความรัก ถ่ายทอดเล่าเรื่องผ่านตัวละคร 2 คน ผู้ชายชื่อ ซัน (Sun) ส่วนผู้หญิงชื่อ มูน (Moon) นิยามของคำว่าความรักเกิดจากความห่วงใยและความอบอุ่น รวมถึงการสนับสนุน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยใช้ภาพต่อมาประกอบจนเป็นเรื่องราวจิตนาการ เพื่อเติมเต็มในส่วนที่ขาดหายไป และไม่มีใครเกิดมาแล้วสมบูรณ์แบบ ต่างคนก็ต่างมีสิ่งที่ขาดหายกันไป (4) ผลงาน ‘วันแรกของปี’ โดย นางสาวอดีตา จัตุรัส แนวคิด-วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 เป็นวันแรกของปีที่ได้ตื่นแต่เช้า และได้ไปดูวิวทิวทัศน์ เป็นจุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจ เป็นทิวทัศน์ที่ประทับใจ เพราะช่วงเวลานั้นได้อยู่กับครอบครัว และวิวทิวทัศน์อันสวยงามที่มาพร้อมกับลมหนาว จึงนำบรรยากาศช่วงเวลานั้นมาถ่ายทอดผ่านเส้นใยไหมพรม และ (5) ผลงาน ‘ฉุดรั้ง’ โดย นายศิวกร เจือจันทร์ แนวคิด-อารมณ์ภายใน จิตใจ ความรู้สึก ไม่สามารถจับต้องได้ จึงนำเอารูปร่างของมนุษย์ที่บิดเบี้ยวเกินจริง มาสื่อถึงอารมณ์ภายในจิตใจที่ต้องการ ผ่านรูปแบบงานประติมากรรมกึ่งนามธรรม

สัมผัสแรงบันดาลใจของศิลปินรุ่นใหม่ ผ่านผลงานศิลปะร่วมสมัยในนิทรรศการศิลปนิพนธ์ ครั้งที่ 34 ระหว่างวันที่ 9-22 เมษายน 2568 ณ หอศิลป์ ASVN ถนนนาคราช เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ หรือที่เพจ Facebook: สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *