นายกฯ แพทองธารประกาศแผนปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เสริมความแข็งแกร่งของไทยในสายตานักลงทุนต่างชาติ ณ งานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศแผนปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งสำคัญเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และตอกย้ำสถานะของประเทศในฐานะ investment destination ชั้นนำ นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังแสดงวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการปรับปรุงกระบวนการกำกับดูแลที่รวดเร็วยิ่งขึ้น เศรษฐกิจดิจิทัลที่ราบรื่น และการเติบโตที่ขับเคลื่อนด้วยความยั่งยืน ที่งาน JFCCT Prime Minister Address Luncheon 2025 ซึ่งจัดโดย หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ โดยมีผู้เข้าร่วมจากภาครัฐ นักลงทุนต่างชาติ และผู้นำภาคธุรกิจ ร่วมหารือกันถึงแนวทางขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค

ในการกล่าวสุนทรพจน์ นางสาวแพทองธารเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการสร้างสภาพแวดล้อมการลงทุนที่โปร่งใสและเป็นมิตรกับนักลงทุนมากขึ้น โดยกล่าวว่า “รัฐบาลมีวิสัยทัศน์ในการเปลี่ยนแปลงการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน ประเทศไทยไม่ได้เพียงเปิดประตูรับการลงทุนเท่านั้น แต่เรากำลังสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่เอื้อต่อนวัตกรรม ความโปร่งใส และการเติบโตในระยะยาวด้วย นโยบายของเรามุ่งเน้นไปที่การทำให้กระบวนการลงทุนง่ายขึ้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย และการส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมทั้งสำหรับนักลงทุนไทยและต่างชาติ”

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) นั้นมีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศไทยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง เช่น เทคโนโลยี การผลิตที่ยั่งยืน และภาคบริการ นอกจากนี้ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย ผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน และการปรับปรุงกฎระเบียบเชิงกลยุทธ์ เพื่อให้ประเทศไทยคงสถานะเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับภาคธุรกิจที่ต้องการเสถียรภาพและการเติบโตในระยะยาว

หนึ่งในแกนหลักของสุนทรพจน์นายกฯ ครั้งนี้ก็คือความมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลและภาคเอกชน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ยืนยันถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการสนับสนุนภาคเอกชนในการเติบโตและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนอีกด้วย โดยย้ำว่าภาครัฐจะสนับสนุนและผลักดันให้ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้จริง มีโอกาสเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานระดับโลก และได้รับการสนับสนุนเชิงปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า “อนาคตของประเทศไทยนั้นขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนที่ครอบคลุมและสอดคล้องกัน ซึ่งสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เราสามารถร่วมกันสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกภาคส่วนได้ด้วยการผสาน โมเดลเศรษฐกิจ BCG การรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนโยบายธุรกิจที่ครอบคลุม”

นางวีเบ็คก้า ลิสซานด์ เลร์ว็อก ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) กล่าวว่า แม้ 2567 จะเป็นปีที่เต็มไปด้วยความท้าทายทั้งสำหรับประเทศไทยและเศรษฐกิจโลก แต่ประเทศไทยได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการฟื้นตัวและมีผลการดำเนินงานทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าการคาดการณ์ นอกจากนี้ นางเลร์ว็อกยังชี้ให้เห็นถึงการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ พร้อมทั้งย้ำว่าการส่งออกของไทยนั้นฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งเป็นสัญญาณของเศรษฐกิจที่กลับมาเติบโตอีกครั้ง

นางเลร์ว็อกกล่าวด้วยว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในภาคส่วนสำคัญที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ทั้งนี้ นางเลร์ว็อกกล่าว “ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน โดยเฉพาะข้อได้เปรียบที่มาจากมาตรการจูงใจเชิงยุทธศาสตร์และโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง แม้ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจยังคงมีความท้าทายในบ้างด้าน แต่โครงการส่งเสริมการลงทุนของ EEC และ BOI ได้ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ”

นางเลร์ว็อกเน้นย้ำว่า สิ่งที่สำคัญสำหรับอนาคตก็คือความสามารถในการฟื้นตัวท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลก ซึ่งรวมถึงความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งทางการค้า และการปรับอัตราภาษีศุลกากรที่อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ นางเลร์ว็อกยังเรียกร้องให้มีการร่วมมือที่มากขึ้นระหว่างบริษัทขนาดใหญ่และธุรกิจ SMEs เพื่อให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งเรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายให้ความสำคัญกับการปฏิรูปกฎระเบียบและการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล “ประเทศไทยต้องปรับตัวอยู่เสมอ ทำให้มั่นใจว่า SMEs จะไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง หากเรามีการปฏิรูปที่เหมาะสมและมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เราจะสามารถขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนและเสริมสร้างสถานะของประเทศไทยให้แข็งแกร่งขึ้นในฐานะศูนย์กลางธุรกิจที่สำคัญ” นางเลร์ว็อกกล่าว

นายบุญยงค์ ยงเจริญรัฐ รองประธานหอการค้าไทย-จีน กล่าวถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยกับจีน โดยเน้นว่าการค้าแบบทวิภาคี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และความร่วมมือด้านการลงทุน เป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ทั้งนี้ นายบุญยงค์กล่าวว่า “ประเทศไทยและจีนมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่หยั่งรากลึกมายาวนาน โดยที่จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยติดต่อกันเป็นเวลา 12 ปี และในขณะที่ภาคธุรกิจจีนขยายตัวไปทั่วโลกนั้น ประเทศไทยอยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์ในฐานะศูนย์กลางการผลิตและโลจิสติกส์ที่สำคัญของอาเซียน”

นายบุญยงค์ ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น โครงการรถไฟจีน-ลาวและโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงของไทยที่อยู่ในระหว่างดำเนินการขณะนี้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเชื่อมโยงระดับภูมิภาค ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และอำนวยความสะดวกให้การค้าระหว่างไทย จีน และอาเซียนมีความคล่องตัวมากขึ้น “การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเชิงยุทธศาสตร์ ไม่เพียงแต่เสริมความแข็งแกร่ง แต่ยังปูทางไปสู่ความร่วมมือทางธุรกิจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งภาคการผลิต พลังงาน และเทคโนโลยี” นายบุญยงค์กล่าว
นอกจากนี้ นายบุญยงค์ยังกล่าวด้วยว่า การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของประเทศไทยในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative – BRI) ของจีน มาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาค เช่น RCEP และ ACFTA จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขยายการเข้าถึงตลาด การส่งเสริมการค้าระยะยาว และการดึงดูดการลงทุนคุณภาพสูงจากต่างประเทศ “การเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การขยายการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน และการสนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง จะช่วยให้ไทยและจีนสามารถขับเคลื่อนการเติบโตของภูมิภาคนี้อย่างยั่งยืนในระยะยาวได้” นายบุญยงค์ย้ำ

ด้านนายแหลม ชุนวา พาร์สัน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกงประจำกรุงเทพมหานคร (HKETO) กล่าวถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของไทยและศูนย์กลางการเงินระดับโลกอย่างฮ่องกงว่า “ประเทศไทยและฮ่องกงมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่มั่นคง โดยในปี 2567 มูลค่าการค้าระหว่างสองฝ่ายสูงกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินและโลจิสติกส์ระดับนานาชาติ ฮ่องกงมีบทบาทเป็นประตูบานสำคัญสำหรับธุรกิจไทยที่แสวงหาการขยายสู่ตลาดสากลและเป็นจุดเชื่อมโยงให้นักลงทุนต่างชาติที่ต้องการเข้าสู่ตลาดอาเซียน” นายพาร์สันอธิบายและกล่าวต่อไปว่า สภาพแวดล้อมภาษีต่ำ ตลาดทุนที่แข็งแกร่ง และเครือข่ายการค้าระหว่างประเทศของฮ่องกง ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฮ่องกงเป็นหุ้นส่วนสำคัญที่สำคัญต่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจของไทย
“มีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะบูรณาการห่วงโซ่อุปทานให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เนื่องจากรูปแบบการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปนำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจทั้งในประเทศไทยและฮ่องกง การทำงานร่วมกันจะทำให้เราสามารถเสริมสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์ในภูมิภาคและยกระดับบทบาทของไทยให้เป็นศูนย์กลางทางยุทธศาสตร์ภายในอาเซียนได้” นายพาร์สันกล่าว
นอกจากนี้ นายพาร์สัน ยังกล่าวถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการเงินที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) และนวัตกรรมดิจิทัล พร้อมกระตุ้นให้ภาคธุรกิจไทยใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของฮ่องกงในด้านการเงินสีเขียว (Green Finance) และเทคโนโลยีทางด้านการเงิน (Fintech) “เมื่อมองไปถึงอนาคต การส่งเสริมการลงทุนระดับทวิภาคีและการสนับสนุนภาคธุรกิจให้สามารถปรับตัวได้กับกฎระเบียบต่างๆ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ภาคธุรกิจไทยและฮ่องกงเติบโตอย่างแข็งแกร่งท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” นายพาร์สันกล่าวทิ้งท้าย

นางวีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล Deputy CEO และ Head of Wholesale Banking ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ฉายภาพให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่ยาวนานของยูโอบีในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจไทยและภูมิทัศน์การลงทุน “ธนาคารยูโอบีตระหนักถึงความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในฐานะประตูสู่อาเซียน เรามุ่งมั่นที่จะช่วยให้ทั้งธุรกิจไทยและต่างชาติขยายตัวได้อย่างราบรื่นในภูมิภาคนี้ ด้วยเครือข่ายที่เรามีในภูมิภาคและศักยภาพด้านการธนาคารเพื่อองค์กร การเงินที่ยั่งยืน และการค้าข้ามพรมแดน” นางวีระอนงค์กล่าว
นางวีระอนงค์ ย้ำถึงบทบาทของธนาคารยูโอบีในการอำนวยความสะดวกในการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยเปิดเผยว่า หน่วยที่ปรึกษาการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDIA) ของยูโอบี ประเทศไทย ได้ช่วยให้บริษัทกว่า 370 แห่งจัดตั้งธุรกิจขึ้นในประเทศไทย คิดเป็นมูลค่าการลงทุนที่คาดการณ์ไว้มากกว่า 45,000 ล้านบาท และสร้างงานกว่า 18,000 ตำแหน่งตั้งแต่ปี 2563
นอกจากเรื่องการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนแล้ว นางวีระอนงค์ยังเน้นย้ำถึง ความสำคัญของนวัตกรรมดิจิทัลและความยั่งยืนในฐานะปัจจัยหลักในการเติบโตทางธุรกิจ โดยกล่าวว่า “ภายใต้การเปลี่ยนแปลงดิจิทัลและการลงทุนที่ขับเคลื่อนโดยหลัก ESG เรามุ่งมั่นที่จะให้บริการโซลูชั่นและเครื่องมือทางการเงินที่ปรับแต่งได้เพื่อเสริมพลังให้กับธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทย ยูโอบีนั้นเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้สำหรับธุรกิจที่ต้องการเติบโตในสภาพแวดล้อมการลงทุนของประเทศไทย ด้วยการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน ส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน และเพิ่มการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค”
สุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรีในงาน JFCCT Prime Minister Address Luncheon 2025 เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการปรับภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ เสริมสร้างความร่วมมือทางการค้าระดับโลก และขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ประเทศไทยนั้นมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการลงทุนชั้นนำของอาเซียน โดยในปี 2567 ยอดคำขอส่งเสริมการลงทุนแตะระดับสูงสุดในรอบทศวรรษที่ 1.14 ล้านล้านบาท (ประมาณ 32.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศคิดเป็นมูลค่า 832,000 ล้านบาท (ประมาณ 23.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ท่ามกลางการปฏิรูปกฎระเบียบที่เดินหน้าอย่างรวดเร็วและมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาลที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณโอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อนสำหรับนักลงทุนทั่วโลก ผู้นำอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ SMEs ทั้งนี้ “เส้นทางข้างหน้าต้องอาศัยความร่วมมือ การตัดสินใจที่กล้าหาญ และความมุ่งมั่นอย่างไม่ลดละต่อนวัตกรรมและความยั่งยืน” นางวีเบ็คก้า ลิสซานด์ เลร์ว็อก ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย กล่าวทิ้งท้าย.