อัปเดตล่าสุด สิทธิลดหย่อนภาษี ปี 2567 มีอะไรบ้าง?
การให้ความสำคัญกับการลดหย่อนภาษีตั้งแต่ต้นปี เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการวางแผนภาษีให้มีประสิทธิภาพ ผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบและชำระภาษีจึงไม่ควรละเลย เพราะการเตรียมและจัดรายการลดหย่อนภาษีล่วงหน้าจะช่วยให้สามารถประหยัดภาษีได้มากขึ้น เหลือเงินไปใช้ประโยชน์หรือหาความสุขให้กับตนเองและครอบครัว สำหรับสิทธิลดหย่อนภาษี 2567 เราได้อัปเดตและสรุปมาให้แล้วทุกรายการที่ควรรู้ ครบจบในบทความนี้
การลดหย่อนภาษี 2567 สิทธิสำคัญที่มนุษย์เงินเดือนไม่ควรมองข้าม
หากพูดถึงการลดหย่อนภาษี เชื่อว่ามนุษย์เงินเดือนต้องคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะด้วยหน้าที่ที่ต้องยื่นแบบและชำระภาษีเงินได้ทุกปีหลายคนอาจจะยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญ หรือมองข้ามประโยชน์ของค่าลดหย่อนภาษีไป ซึ่งต้องบอกเลยว่า อาจจะกลายเป็นข้อผิดพลาดในการวางแผนภาษีในแต่ละปีโดยไม่รู้ตัว
การคำนวณเงินได้สุทธิแบบง่าย ๆ มีสูตรดังนี้
เงินได้สุทธิ = (รายได้รวมต่อปี – ค่าใช้จ่าย) – ค่าลดหย่อน
“เงินได้สุทธิ” คือจำนวนเงินที่นำมาคำนวณภาษี หากมีค่าลดหย่อนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มาช่วยหักออกจากรายได้ ก็จะช่วยให้สามารถประหยัดภาษีที่ต้องจ่ายในแต่ละปีลงได้มากขึ้น ดังนั้นการวางแผนภาษีจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรเริ่มวางแผนตั้งแต่ช่วงต้นปี เพื่อให้สามารถประหยัดภาษีที่ต้องจ่ายในแต่ละปีได้มากที่สุด
สิ่งที่ควรรู้อันดับแรกก็คือ รายการใดบ้างที่ใช้ในการลดหย่อนภาษี 2567 ได้ และรายจ่ายใดบ้างที่กฎหมายกำหนดให้ผู้มีเงินได้สามารถนำมาหักลดหย่อนจากรายได้ในแต่ละปีได้
สรุปรายการลดหย่อนภาษี 2567 อัปเดตล่าสุด
รายการลดหย่อนภาษีปี 2567 ตามที่กฎหมายกำหนดให้สามารถใช้ลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้ โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจง่าย ดังนี้
1. สิทธิลดหย่อนส่วนตัว และครอบครัว
- สิทธิลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้
ผู้มีเงินได้ทุกคน สามารถใช้สิทธิลดหย่อนค่าใช้จ่ายสำหรับตนเองได้จำนวน 60,000 บาท ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของการลดหย่อนภาษีที่ทุกคนได้รับ - สิทธิลดหย่อนสำหรับคู่สมรส
คู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายและเป็นผู้ที่ไม่มีรายได้ สามารถลดหย่อนได้อีก 60,000 บาท แต่กรณีที่คู่สมรสเป็นผู้มีเงินได้ สามารถเลือกยื่นภาษีแยกหรือรวมกันได้ - สิทธิลดหย่อนสำหรับบุตรชอบด้วยกฎหมาย
บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของตนเอง หรือคู่สมรส จะได้รับสิทธิลดหย่อนคนละ 30,000 บาท กรณีบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้เพิ่มอีกคนละ 30,000 บาท โดยบุตรแต่ละคนจะต้องมีรายได้ในปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท และต้องมีอายุไม่ถึง 20 ปี
หรือหากอายุไม่เกิน 25 ปี แต่ยังศึกษาอยู่ระดับอนุปริญญาหรือปริญญาตรีขึ้นไป รวมถึงหลักสูตรเนติบัณฑิต หรือเป็นผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ก็สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้
- สิทธิลดหย่อนสำหรับบุตรบุญธรรม
บุตรบุญธรรมที่จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมถูกต้องตามกฎหมาย สามารถนำมาลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท สูงสุดได้ไม่เกิน 3 คน และบุตรบุญธรรมต้องมีรายได้ในปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท
ทั้งนี้หากผู้มีเงินได้มีบุตรชอบด้วยกฎหมายด้วย จะต้องใช้สิทธิลดหย่อนส่วนนี้ก่อน หากใช้ครบ 3 คนแล้ว จะไม่สามารถใช้สิทธิลดหล่อนของบุตรบุญธรรมได้อีก
- ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร
สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาทต่อการตั้งครรภ์ หากเป็นการตั้งครรภ์แฝด จะนับเป็น 1 การตั้งครรภ์เท่านั้น โดยจะต้องมีเอกสารมาแสดง คือใบรับรองแพทย์ที่แสดงความเห็นว่ามีภาวะตั้งครรภ์ และใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานอื่น ๆ ที่ได้จ่ายให้สถานพยาบาล ใช้สิทธิได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน - สิทธิลดหย่อนสำหรับอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา
บิดามารดาที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปและมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท สามารถนำมาลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท รวมถึงบิดามารดาของคู่สมรส สามารถมาหักลดหย่อนได้ด้วย สูงสุดคือ 4 คน
ทั้งนี้มีเงื่อนไขเพิ่มเติม คือ หากในครอบครัวมีบุตรหลายคนที่อุปการะบิดาหรือมารดา บุตรแต่ละคนจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนบิดา มารดาได้เพียงคนเดียวเท่านั้น ไม่สามารถใช้ซ้ำซ้อนได้ และต้องมีหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (ล.ย.03) ส่วนบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิหักลดหย่อนในส่วนนี้
- สิทธิลดหย่อนสำหรับเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา
สิทธิลดหย่อนนี้สามารถใช้สิทธิได้ทั้งบิดามารดาของตนเอง และคู่สมรส โดยจะได้สิทธิลดหย่อนตามจริง แต่เมื่อนำค่าเบี้ยประกันสุขภาพรวมกัน ทั้งของบิดาและมารดาต้องไม่เกิน 15,000 บาท โดยบิดา มารดาจะต้องมีรายได้ในปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท และบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิลดหย่อนภาษีในส่วนนี้เช่นกัน - สิทธิลดหย่อนสำหรับเบี้ยประกันชีวิตและประกันชีวิตแบบบำนาญของคู่สมรส
หากในปีภาษีนั้น ๆ คู่สมรสไม่มีรายได้ สามารถนำเบี้ยประกันของคู่สมรสมาลดหย่อนภาษีได้สูงสูด 10,000 บาท - สิทธิลดหย่อนสำหรับอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ หรือคนทุพพลภาพ
หากผู้มีเงินได้อุปการะเลี้ยงดูคนพิการ/ทุพพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน โดยคนพิการ/ทุพพลภาพนั้น มีรายได้ในปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท มีบัตรประจำตัวผู้พิการ และผู้มีเงินได้มีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะจะได้รับสิทธิลดหย่อน 60,000 บาท
กรณีผู้พิการ/ทุพพลภาพ เป็นบิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตร จะได้รับสิทธิลดหย่อนทั้ง 2 ส่วน และได้รับสิทธิทุกคนโดยไม่จำกัด แต่หากไม่ได้มีความสัมพันธ์นี้กับผู้มีเงินได้ จะได้รับสิทธิลดหย่อนเพียงแค่ 1 คนเท่านั้น
2. สิทธิลดหย่อนจากการออม การลงทุน และประกันชีวิต
การลดหย่อนภาษี 2567 มีหลายตัวเลือกสำหรับบุคคลธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นการออม การลงทุน หรือการทำประกันชีวิต ซึ่งจะช่วยลดภาระภาษีและเพิ่มความมั่นคงทางการเงินในอนาคต โดยในปีนี้ เรามีข้อมูลอัปเดตเกี่ยวกับสิทธิลดหย่อนภาษีที่น่าสนใจมาให้ดูกัน
- เงินสมทบกองทุนประกันสังคม
เงินสมทบกองทุนประกันสังคม สามารถแบ่งได้ตามมาตรา คือ- มาตรา 33 หักได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 9,000 บาท (พนักงาน)
- มาตรา 39 หักได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 5,184 บาท
- มาตรา 40 หักได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 840 (ทางเลือกที่ 1), 1,200 (ทางเลือกที่ 2) และ 3,600 (ทางเลือกที่ 3)
- เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของรายได้ สำหรับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของรายได้ เมื่อรวมกับการออมและกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ* แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท - เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระเท่านั้น สามารถหักได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท เมื่อรวมกับการออมและกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ* แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท - เบี้ยประกันชีวิต และเบี้ยประกันแบบสะสมทรัพย์
สามารถลดหย่อนตามจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท และต้องเป็นประกันชีวิตที่ทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทยเท่านั้น และกรมธรรม์ต้องมีกำหนดเวลา 10 ปีขึ้นไป โดยหากมีผลประโยชน์ตอบแทนคืนทุกปี (ไม่รวมเงินปันผลตามกรมธรรม์) ต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี - เบี้ยประกันสุขภาพ
สามารถลดหย่อนตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตและเบี้ยประกันแบบสะสมทรัพย์แล้ว จะต้องไม่เกิน 100,000 บาท - เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
สามารถลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุด 15% ของรายได้ แต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท และต้องเป็นประกันชีวิตที่ทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทยเท่านั้น และกรมธรรม์ต้องมีกำหนดเวลา 10 ปีขึ้นไป และเมื่อรวมกับการออมและกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ* แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ทั้งนี้กรณีที่ผู้มีเงินได้ไม่ได้ทำประกันชีวิตแบบทั่วไป จะสามารถนำเบี้ยประกันแบบบำนาญไปหักลดหย่อนในส่วนนี้ได้ก่อน หรือหากใช้เบี้ยประกันชีวิตลดหย่อนไปแล้ว แต่ยังไม่เกิน 100,000 บาท ก็สามารถนำเบี้ยประกันแบบบำนาญไปหักให้เต็มจำนวน 100,000 บาทได้ก่อน ส่วนที่เหลือจะสามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนได้เพิ่มอีกสูงสุด 15% ของรายได้
- เงินลงทุนธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)
ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ต้องลงทุนในธุรกิจ หรือลงทุนในหุ้นของธุรกิจที่ได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 ซึ่งหากเป็นการลงทุนในหุ้น จะต้องถือหุ้นของวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้น ๆ จนกว่าจะเลิกกิจการ - ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
การลงทุนในกองทุน RMF ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของรายได้ และต้องไม่เกิน 500,000 บาท และเมื่อรวมกับการออมและกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ* แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท - ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)
การลงทุนในกองทุน SSF ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของรายได้** และสุงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับการออมและกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ* แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
**อัปเดตข้อมูลเดือนมีนาคม 2567 จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้จนถึงปี 2567
- ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG)
การลงทุนในกองทุน Thai ESG ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2569 สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของรายได้ และสูงสุดต้องไม่เกิน 300,000 บาท
*กองทุนเพื่อการเกษียณอายุ หมายถึง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.), กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)
3. สิทธิลดหย่อนจากมาตรการรัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
- ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย
ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย สามารถนำมาลดหย่อนได้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยต้องมีหนังสือรับรองตามแบบที่อธิบดีกำหนด - โครงการ Easy e-Receipt
ค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2567 สามารถนำใบกํากับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงรวม VAT แต่สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท และจะต้องเป็นสินค้าที่มีใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ตามระบบของกรมสรรพากรเท่านั้น - เที่ยวเมืองรอง
มาตรการลดหย่อนภาษีปี 2567 เที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด สามารถนำค่าที่พักที่จ่ายจริง มาลดหย่อนภาษีไม่เกิน 15,000 บาท โดยต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt)
4. ลดหย่อนภาษีจากเงินบริจาค ลดหย่อนภาษี 2567
- เงินบริจาคทั่วไป
สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน - เงินบริจาคลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
เงินบริจาคให้สถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน กีฬา สถานพยาบาลของรัฐ และเงินบริจาคพิเศษผ่าน e-Donation สามารถนำมายื่นลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่จ่ายไปจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน - เงินบริจาคพรรคการเมือง
สามารถลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท โดยจะต้องมีเอกสารมาแสดง คือใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานอื่นใดที่พิสูจน์ได้ถึงการบริจาคให้พรรคการเมืองดังกล่าว
ต่อยอดเงินคืนภาษี ได้ประโยชน์อีกต่อเพื่อใช้ในการลดหย่อนภาษี 2567
หลังจากทราบแนวทางการวางแผนลดหย่อนภาษี 2567 กันไปแล้ว คงพอจะทำให้คนทำงานหลาย ๆ คนตระหนักได้ถึงความสำคัญของสิทธิในการลดหย่อนภาษี ไม่ว่าจะเป็นการอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา การซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี การซื้อประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพ การบริจาค หรือจะเป็นการใช้สิทธิซื้อสินค้าและบริการแล้วเก็บ e-Tax Invoice เพื่อลดหย่อนภาษี ก็สามารถช่วยให้ได้รับเงินภาษีคืนเพิ่มมากขึ้น คำถามต่อมาก็คือ แล้วเราควรนำเงินภาษีที่ได้รับคืนนั้นมาทำอะไรดี
ต้องบอกเลยว่าเงินคืนภาษีเปรียบเสมือนเงินก้อนพิเศษที่ได้จากการวางแผนภาษีที่ดี เพราะไม่ใช่ทุกคนจะได้รับเงินภาษีคืน ขึ้นอยู่กับการวางแผนภาษีของแต่ละคนนั่นเอง ดังนั้นเงินก้อนนี้จะต้องนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้คุ้มค่ากับเวลาที่รอคอย ซึ่งการวางแผนการลงทุนเงินคืนภาษีอย่างรอบคอบจะช่วยให้เงินก้อนนี้นำลงทุนต่อยอดให้เงินงอกเงย ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีและน่าสนใจเป็นอย่างมาก
ลงทุน RMF, SSF และ Thai ESG เพื่อลดหย่อนภาษี 2567 พร้อมโอกาสสร้างกำไร
การลงทุนที่น่าสนใจและเหมาะกับการนำเงินคืนภาษีมาลงทุนสร้างผลกำไรต่อยอดให้งอกเงยก็คือ การเลือกลงทุนในกองทุน RMF, กองทุน SSF และกองทุน Thai ESG เพราะนอกเหนือจากโอกาสในการสร้างกำไรจากการลงทุนแล้ว กองทุนเหล่านี้ยังให้ประโยชน์และยังสามารถช่วยลดหย่อนภาษี 2567 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียกได้ว่าลงทุนครั้งเดียว ได้ประโยชน์ทางภาษีหลายเด้ง
ข้อดีของการนำเงินคืนภาษีไปลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษี ผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีในปีต่อ ๆ ไป และยังเป็นการต่อยอดเงินที่ได้รับมาให้เพิ่มพูนขึ้นได้ อย่างไรก็ตามก่อนที่จะเลือกลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีกองใด ก็ควรที่จะศึกษาเงื่อนไขของแต่ละกองทุนให้ละเอียด ตรวจสอบดูให้แน่ใจว่ามีความเสี่ยงตรงกับที่ตนเองสามารถยอมรับได้หรือไม่ และผลตอบแทนใกล้เคียงกับความคาดหวังหรือไม่ เพื่อให้มั่นใจว่า ได้เลือกลงทุนในกองทุนที่มีความเหมาะสมกับตนเองแล้วจริง ๆ
เมื่อทางเลือกการลดหย่อนภาษี 2567 มีมากมาย ผู้มีเงินได้ทุกท่านสามารถเลือกได้ว่าจะวางแผนภาษีของตนอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด ส่วนใครที่ยังไม่ค่อยมั่นใจ ไม่สันทัดกับการวางแผนภาษี และอยากวางแผนลดหย่อนภาษี 2567 แบบเต็มแม็กซ์ สามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ที่ช่องทางฮอตไลน์ 02-296-5959 ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 9.00 น. – 17.00 น. หรือฝากข้อมูลให้ที่ ปรึกษาวางแผนภาษี ติดต่อกลับก็ได้เช่นกัน