Cuppitano Coffee คาเฟ่สไตล์โฮมมี่ ฟีลกินกาแฟบ้านเพื่อน by กัปตันจอห์น ศิษย์การบิน RSU02
วิกฤติโควิด-19 สอนให้รู้ว่า การมีอาชีพเดียวถึงแม้จะเป็นอาชีพที่คิดว่ามีรายได้ค่อนข้างดี หาคนทดแทนยาก เป็นอาชีพที่มั่นคง ยังได้รับผลกระทบและไม่มั่นคงอีกต่อไป จึงเป็นที่มาของการเปิดร้านกาแฟ Cuppitano Coffee คาเฟ่สไตล์โฮมมี่ ฟีลกินกาแฟบ้านเพื่อน by กัปตันจอห์น ภมรมนตรี ศิษย์เก่าสถาบันการบิน (RSU02) มหาวิทยาลัยรังสิต
ศิษย์การบิน RSU02
จอห์น เล่าว่า ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ตอนนั้นได้รับเงินเดือนน้อยมากและได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคมหากเปรียบเทียบกับรายได้ปกติที่เราเคยได้รับจึงต่างกันมาก ผมจึงมองหาอาชีพเสริมที่จะหารายได้อีกทางหนึ่ง ส่วนตัวผมชอบดื่มกาแฟ ศึกษาเรื่องกาแฟ จึงนำความชอบตรงนี้มาเปิดร้านเล็กๆ ในแบบที่ชอบ และอยากให้คนที่ชอบกาแฟได้สัมผัสบรรยากาศเหมือนมากินกาแฟบ้านเพื่อน ร้านตั้งอยู่ในหมู่บ้านเมืองเอก ใกล้กับมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งผมก็อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ เรียนจบที่นี่รู้สึกผูกพันธ์ จึงนำสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราเป็นมาตั้งเป็นชื่อร้าน Cuppitano Coffee
“ผมโตมาในครอบครัวนักบินจึงเดินตามรอยคุณพ่อ ช่วงนั้นสถาบันการบิน มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดหลักสูตรนักบินพาณิชย์ที่ได้รับปริญญาตรีและใบประกอบวิชาชีพนักบินได้ภายใน 4 ปี ซึ่งประหยัดเวลาเรียนไปเกือบ 2 ปี (เพราะหลักสูตรนักบินปกติจะรับคนที่จบปริญญาตรีก่อนแล้วค่อยไปเรียนต่อหลักสูตรนักบิน) จึงเลือกเรียนนักบินที่สถาบันการบิน มหาวิทยาลัยรังสิต ที่พึ่งเปิดรับเป็นรุ่นที่ 2 ของหลักสูตร ตอนเรียนฝึกบินเรียนเก็บชั่วโมงที่ประเทศไทยก่อนจนถึงตอนปล่อยบินเดี่ยว (การบินด้วยตัวเองโดยที่ไม่มีครูฝึกนั่งไปด้วย) หลังจากปล่อยบินเดี่ยวได้ย้ายไปเรียนที่ Gander Flight Training ประเทศแคนาดา ศูนย์ฝึกบินในความร่วมมือของสถาบันการบิน มหาวิทยาลัยรังสิต โดยใช้เวลาฝึกบินประมาณ 1 ปีกว่า”
ประสบการณ์ที่ได้รับจากการฝึกบินในต่างประเทศ คือ เรื่องสภาพอากาศ ประเทศไทยเราจะเจอสภาพอากาศร้อนและฝน แต่ที่แคนาดาเราลืมเรื่องหน้าร้อนไปได้เลยจะเจอกับหน้าหนาวและหิมะ เวลาบินช่วงหน้าหนาวน้ำแข็งก็จะเกาะที่ปีกเครื่องบิน ดังนั้นจึงได้ประสบการณ์ในเรื่อของการละลายน้ำแข็งที่ปีกเครื่องบิน การควบคุมเครื่องบินจากอุณหภูมิที่เปลี่ยนไป เป็นต้น จากประสบการณ์การฝึกบินทั้งในประเทศและต่างประเทศทำให้มั่นใจได้ว่ามาตรฐานการฝึกบินไม่ต่างกัน
เส้นทางสู่อาชีพนักบิน
เมื่อเรียนจบก็จะได้รับใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี สามารถนำใบอนุญาตไปยื่นสมัครสอบคัดเลือกตามสายการบินต่างๆ ที่เปิดรับสมัครได้เลย ผมสอบที่สายการบินนกแอร์ โดยการสอบความรู้ทางด้านการบิน สอบภาษาอังกฤษ และสุดท้ายคือ การสอบสัมภาษณ์ หลังจากที่เราผ่านการคัดเลือกมาแล้ว เราก็ต้องมาเรียนวิชาต่างๆ ของบริษัทฯ (สายการบินที่เราสอบผ่าน) เมื่อมีข้อมูลเบื้องต้นแล้วก็ไปฝึกกันต่อเป็นการฝึกกับเครื่องบินจำลอง หรือที่เรียกว่า Flight Simulator โดยเครื่องบินที่ใช้ฝึกบินจำลองนี้จะเป็นเครื่องพาณิชย์ ของสายการบิน ไม่ใช่เครื่องฝึกบินเล็กๆ เหมือนสมัยที่เรียน เมื่อฝึกเสร็จก็ต้องสอบอีกรอบ สอบผ่านก็ไปฝึก School Flight คือการบินจริง เป็นเครื่องเปล่าไม่มีผู้โดยสาร โดยทั้งเครื่องจะมีแค่ผมกับครูอีกคนหนึ่งเท่านั้น เป็นการบินประมาณ 2 ไฟล์ต บินไปต่างจังหวัดเพื่อฝึกการขึ้น-ลงสนามบินให้คล่องและก็สอบอีกครั้ง ถ้าผ่านก็ได้บินจริงกับเครื่องที่มีผู้โดยสาร
ไฟล์ตแรกของการเป็นนักบินอาชีพ คือ ไปสกลนคร ผมตื่นเต้นมากเพราะเราไม่ได้บินคนเดียวหรือบินกับครูฝึก เรามีผู้โดยสารและลูกเรืออีก 60-70 คนที่อยู่ในความรับผิดชอบของเรา แต่พอผ่านจุดนั้นมาได้รู้สึกดีใจมากว่าเราทำได้แล้ว เราทำสำเร็จแล้ว แต่พอบินไปถึงจุดหมายปลายทางก็ต้องทำหน้าที่ของต่อ คือ ต้องเตรียมเครื่องใหม่ เซ็ตแผนการบิน ดูสภาพอากาศ ดูเส้นทางบิน เหมือนกำลังเริ่มต้นอีกครั้ง เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่เริ่มสตาร์ทเครื่องมันหมายถึงผมกำลังบินใหม่ เพราะทุกไฟล์ตไม่เหมือนเดิม
เราควรมีมากกว่า 1 อาชีพ
“ผมเป็น Co-pilot สายการบินนกแอร์ประมาณ 3 ปี จึงย้ายไปสายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ เก็บชั่วโมงบินประมาณ 4 ปี จึงสอบขึ้นเป็นกัปตัน หลังเป็นกัปตันได้ไม่นานก็เกิดสถานการณ์โควิด-19 ตามที่กล่าวไปข้างต้น จนสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ กระทั้งปลายปีที่แล้วเกิดเหตุไม่คาดคิดผมประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บที่มือทำให้ต้องพักรักษาตัวไม่สามารถขับเครื่องบินได้ สำหรับผมจากวิกฤตก็ยังถือว่าเป็นโอกาสเช่นกัน ที่ผมสามารถปรับตัวหารายได้จากอาชีพอื่นเสริม การที่ผมมีร้านกาแฟทำให้ผมได้รับผลกระทบน้อยกว่าวิกฤตโควิดมาก ระหว่างรักษาอาการบาดเจ็บที่มือผมก็มีแผนจะขยายสาขาร้านกาแฟ และถ้าหายเป็นปกติและถ้ามีโอกาสในอนาคต ผมก็จะกลับไปเป็นนักบินแบบเดิม เพราะนักบินเป็นอาชีพที่ผมรักมาก