เปิดตัว “เครือข่ายอาสาเพื่อน กสศ.”ระดมความร่วมมือภาคเอกชน รับมือเด็กป่วย-กำพร้าจากโควิดพุ่งชี้ยอดเด็กป่วยก้าวกระโดด 2 เท่า กว่า 70% เป็นกลุ่มยากจน เปราะบาง
กสศ. ห่วงสถานการณ์การระบาดในกลุ่มเด็กป่วย-กำพร้าโตก้าวกระโดด จับมือภาคเอกชน กลุ่มธุรกิจ TCP มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย LINE MAN Wongnai ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และเคพีเอ็มจี ประเทศไทย เปิด “เครือข่ายอาสาเพื่อน กสศ.” นำร่องพื้นที่สีแดงเข้ม ปิดช่องว่าง เติมเต็มระบบการดูแลเด็ก ครัวเรือนเปราะบาง และลดความเหลื่อมล้ำเด็กในวิกฤติโควิด
ด้วยอัตราเร่งของจำนวนผู้ป่วยเด็กและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียสมาชิกในครอบครัวที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องกสศ. จึงเร่งระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนภายใต้ “เครือข่ายอาสาเพื่อน กสศ.”เพื่อทำงานเชิงรุกในการรับมือกับเด็กป่วย-กำพร้าจากโควิด-19 ในการสนับสนุน “ศูนย์ประสานช่วยเหลือเด็กในภาวะวิกฤติของ กสศ.” หนุนเสริมการทำงานของหน่วยงานหลักจากหลากหลายกระทรวง เพื่อให้เด็กกลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลช่วยเหลือเร็วที่สุด และสนับสนุนให้ระบบการดูแลช่วยเหลือเด็กสามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องในระยะฟื้นฟู โดยเครือข่ายฯ ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจ TCP มูลนิธิ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย LINE MAN Wongnai ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เป็นต้น
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า “เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มเด็ก ยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง ในระยะเวลาเพียงไม่ถึงเดือนจำนวนการติดเชื้อโควิด-19 ของเด็กก้าวกระโดดเกือบ 2 เท่า และมีอัตราการติดเชื้อมากกว่า 2,000 คนต่อวันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยจากการรายงานของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่มียอดผู้ป่วยเด็ก (เด็ก แรกเกิด-18 ปี) ติดเชื้อสะสม อยู่ที่ราว 65,000 คน และจากข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2564 มีจำนวนเด็กติดเชื้อสะสมจากการรายงานของ ศบค. ที่ 119,814 คน เป็นการติดเชื้อของเด็กใน กทม. สะสม 26,224 คน และ ในส่วนภูมิภาคสะสม 93,590 คน โดยจังหวัดที่มียอดเด็กติดเชื้อสะสมสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี สมุทรสาคร และ นนทบุรี ขณะที่จำนวนเด็กกำพร้าที่สูญเสียพ่อแม่จากโควิด-19 ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยมีจำนวน 350 คนในพื้นที่ 55 จังหวัด”
แม้ว่าความรุนแรงของโรคในเด็กนั้นไม่มาก แต่การรับมือกับปัญหาและผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และการศึกษาของเด็กในระยะยาวนั้นมีความซับซ้อนกว่า ทั้งสุขภาพกาย ใจ สังคม เศรษฐกิจ ปากท้อง โภชนาการ และความเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษา โดยในจำนวนนี้ราว 70% เป็นกลุ่มยากจนด้อยโอกาส หรือกลุ่มเปราะบาง รวมถึงการเฝ้าระวังระยะยาวของอาการที่หลงเหลือจากโควิด-19 อย่างต่อเนื่องอีกหลายเดือน หรือ “Long COVID” ไม่ว่าจะเป็น อาการเหนื่อยล้า ปัญหาการหายใจ ปวดศีรษะ และอาการนอนไม่หลับ เป็นต้น
ดร.ไกรยส กล่าวว่า “หลังการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ทำให้จำเป็นต้องหาทางรับมือกับวิถีชีวิตภายใต้ความปกติใหม่ (New Normal) สำหรับ กสศ. ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดทำให้ต้องเปลี่ยนมุมมองในการรับมือในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การพัฒนาเด็กและการป้องกัน การจัดตั้งกลไก “อาสา กสศ.” และ “เครือข่ายอาสาเพื่อ กสศ.” จึงเป็นหนึ่งในความพยายามหาทางออกที่จะแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะทักษะและความรู้ในการปรับตัวเพื่อปลดล็อคการแก้ปัญหาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ความรวดเร็วในการตอบสนอง (Speed to Market) ความคล่องตัว (Agility) การบริหารความเป็นเลิศจากฝั่งธุรกิจรวมถึงทักษะในการรับฟัง ความเสียสละ การทำงานในพื้นที่ของอาสา. กสศ. ฯลฯ
“เราจะเห็นสิ่งใหม่ๆที่เกิดจากการระดมทรัพยากรและความร่วมมือที่กลไกเครือข่ายอาสาเพื่อน กสศ. และอาสาฯ กสศ. เข้าไปเติมเต็มหน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคม เช่น ไรเดอร์จาก LINE MAN Wongnai เข้ามาทำหน้าที่ในการส่งยาและอาหารให้กับเด็กที่ต้องกักตัวในกลุ่ม Home Isolation หรือ การเข้ามาสนับสนุนอาสาสมัครของ TCP เพื่อติดตามและมอนิเตอร์ เป็นผู้ช่วยทีมแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ หรือการสนับสนุนถุงการเรียนรู้ นำโรงเรียนไปหาเด็กๆ ในช่วงล็อกดาวน์ของมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้งทุนสร้างโอกาสทางการศึกษาเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ในระยะฟื้นฟู เป็นต้น”
นางสาวนุชรี อยู่วิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า “วิกฤตจากโควิด-19 ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ณ ขณะนี้รุนแรงถึงที่สุด และคนอีกกลุ่มหนึ่งในสังคมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักคือเด็กกลุ่มเปราะบาง เรื่องด่วนที่กลุ่มธุรกิจ TCP จะเข้าไปดูแลร่วมกับ กสศ. คือ การดูแลสุขภาพความเป็นอยู่ของเด็กๆ เพื่อให้พวกเขาปลอดภัยและอยู่ในสภาพที่พร้อมเรียนรู้ รวมทั้งมีทุนทรัพย์พอที่จะได้เรียนหนังสือต่อโดยไม่ต้องออกจากระบบกลางคัน โดยให้ความช่วยเหลือผ่านโครงการ “กลไกอาสาสมัครคุณภาพ” และโครงการ “ทุนสานฝันการศึกษาเพื่อน้อง” ที่ดูแลทั้งสุขภาพและทุนทรัพย์ไปพร้อมกัน” นางสาวนุชรี กล่าวพร้อมกับระบุว่านี่คือเหตุผลหลักที่กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ริเริ่มผนึกกำลังร่วมกับ กสศ. ในโครงการด้านการศึกษาเพื่อหยุดยั้งปัญหานี้
กลุ่มธุรกิจ TCP จึงสานพลัง กสศ. ช่วยเหลือเด็กๆ กลุ่มเป้าหมายระยะเร่งด่วน ผ่านการระดมทุนสนับสนุนโครงการสนับสนุนกลไกอาสาสมัครคุณภาพ ให้แก่อาสา กสศ. จำนวน 100 คนๆ ละ 400 บาท รวมงบประมาณ 1.2 ล้านบาท และโครงการทุนสานฝันการศึกษาเพื่อน้อง มอบโอกาสให้เยาวชนได้ศึกษาต่อในช่วงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช. 1) ผ่านการสนับสนุนค่าใช้จ่ายทางการศึกษา จำนวน 400 คนๆ ละ 10,000 บาท รวมเป็นงบประมาณ 4 ล้านบาท เพื่อสร้างความเสมอภาค รวมถึงดูแลเด็กและเยาวชนครอบคลุมทุกมิติ
กลไกอาสาสมัครคุณภาพ จะทำหน้าที่เป็นกำลังเสริมให้แก่หน่วยงานหลักต่างๆ เช่น อาสาสมัครคุณครูทั้งในระบบและนอกระบบในชุมชน อาสาสมัครเยาวชน ช่วยรับส่งผู้ป่วยเด็ก รวมถึงส่งชุดยาและเครื่องมือติดตามอาการหรืออุปกรณ์ช่วยชีวิตในกรณีจำเป็นเร่งด่วนตลอด 24 ชั่วโมง และยังสนับสนุนระบบอาสาสมัครดูแลเด็กสัมผัสเสี่ยงสูงที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ระหว่างระยะเวลากักตัว 14 วัน ในสถานที่กักตัว (State Quarantine) รวมถึงดูแลเด็กป่วยติดเชื้อที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในสถานพยาบาลทุกรูปแบบ พร้อมจัดตั้งอาสาสมัครเยี่ยมเด็กและครอบครัวในพื้นที่ชุมชน เพื่อติดตามการเลี้ยงดู ส่งยา อาหารหรือเครื่องใช้จำเป็น
นางลดาวัลย์ กันทวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ในระยะต้น มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญต่อการช่วยเหลือให้เด็กและครอบครัวได้รับการดูแลเร็วที่สุดผ่านการสนับสนุนจิตอาสาที่ทำงานด่านหน้า ถ้าไม่มีครูอาสา จิตอาสา ก็จะไม่มีใครในพื้นที่ดูแลเด็ก จึงต้องช่วยเหลือต่อเนื่องไม่ให้พวกเขาหมดแรงเสียก่อน ระยะถัดมา คือการยกระดับคุณภาพชีวิตหลังจากที่หายป่วยแล้ว และงานเชิงป้องกันหรือฟื้นฟูเพื่อให้เด็กได้รับการศึกษาที่จำเป็นต้องพึ่งพานวัตกรรมเพื่อช่วยเรื่องการเรียนรู้ให้เด็กกลุ่มเปราะบาง รวมถึงสนับสนุนให้ครอบครัวมีรายได้ที่ยั่งยืนการทำงานเพื่อลดผลกระทบต่อเด็กเยาวชนในอนาคต ต้องสร้างมาตรการเชิงป้องกัน ทั้งพ่อแม่ครูปกครองและชุมชน มูลนิธิ ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยากเห็นการรวมเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับเด็กในทุกมิติ ทั้งด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา โรงพยาบาล อนามัย ศูนย์ดูแลเด็กเล็ก สถานศึกษา รวมถึงจิตอาสา เพื่อร่วมกันดูแลเด็กในภาวะวิกฤติได้อย่างรอบด้าน เพื่อในอนาคตจะมีองค์กรพันธมิตร บริษัทจดทะเบียนอื่นๆ เข้ามาช่วยเหลือกันเป็นเครือข่ายระดมความร่วมมือนำทรัพยากรมาใช้ได้อย่างถูกจุดและมีความยั่งยืนมากขึ้น”
นายอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะและรัฐกิจสัมพันธ์ LINE MAN Wongnai กล่าวว่า “ถือเป็นความร่วมมือที่มีประโยชน์และได้ช่วยเหลือเด็กกลุ่มเปราะบางได้อย่างตรงจุด ที่ผ่านมา LINE MAN เป็นแพลตฟอร์มออนดีมานด์ที่ให้บริการด้านการขนส่งทั้งอาหารและสิ่งของ โดยมีไรเดอร์กระจายตัวทุกพื้นที่ รวมทั้งได้อุดหนุนร้านค้าที่ถูกล็อกดาวน์ เพื่อนำอาหารไปส่งต่อให้กับชุมชนที่ขาดแคลน เช่น พื้นที่คลองเตย หรือไปส่งยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับพื้นที่ที่จัด Home Isolation ในยามวิกฤตินี้ เราจะไม่นิ่งเฉยและยินดีเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหา โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ต้องได้รับการช่วยเหลือดูแลที่ ตรงจุด และรวดเร็ว ซึ่งบริการของเราตอบโจทย์นี้ และเมื่อทุกฝ่ายร่วมมือกันปิดช่องว่าง จะช่วยให้วิกฤตนี้คลี่คลายโดยเร็ว”
ทั้งนี้ กสศ. ยังเสนอให้มีการเยียวยาเด็กเยาวชนและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ในแนวทางเดียวกับประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิหรือเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีมติคณะรัฐมนตรีรองรับ โดย;
(1) การสนับสนุนทุนการศึกษาจนสำเร็จปริญญาตรีให้แก่เด็กที่กำพร้าพ่อแม่จากโควิด-19 พร้อมทั้งทุนประกอบอาชีพแก่พ่อ/แม่ที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อให้สามารถตั้งตัวได้
(2) กลุ่มเด็กเยาวชนผู้หายป่วยจากโควิด-19 มากกว่า 1 แสนคน ที่ยังต้องรับมือกับอาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19 ในระยะยาว (Long COVID) เด็กกลุ่มนี้จึงควรได้รับการติดตามตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อย 1-3 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
(3) กลุ่มยากจนซ้ำซ้อนที่ก่อนวิกฤตโควิด-19 มีสถานะยากจนพิเศษอยู่แล้วและยังติดเชื้อโควิดทั้งบ้าน หรือสูญเสียสมาชิกครัวเรือนที่เป็นผู้หารายได้หลัก ภาครัฐควรเยียวยากระตุ้นให้เกิดการมีงานทำให้คนเหล่านี้สามารถกลับมาตั้งตัวได้อีกครั้งซึ่งจากมีผลต่อเนื่องไปถึงการป้องกันดูแลไม่ให้บุตรหลานต้องหลุดจากระบบการศึกษาในระยะยาว