Sunday, November 24, 2024
Latest:
การศึกษา-ไอที

สศศ. ผนึกกำลัง มทร.ธัญบุรี พัฒนาหลักสูตรเพื่อเด็กพิการและผู้ด้อยโอกาสเร่งสร้างคุณภาพการศึกษา เพิ่มทักษะชีวิต (Life Skills) แก้ปัญหาสังคมไทย

สำนักงานบริหารการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้าน Human and Business Development คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผนึกกำลังพัฒนาหลักสูตรทักษะชีวิต (Life Skills) ภายใต้โครงการ “จัดเตรียมหลักสูตรทักษะชีวิต (Life Skills) สำหรับเด็กพิการและผู้ด้อยโอกาส” โดยจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นผู้บริหาร ครู และนักเรียน พร้อมจัดทำร่างหลักสูตรทักษะชีวิตฯ เพื่อบูรณาการความรู้ทางด้านวิชาการและทักษะที่เหมาะสมให้เด็กพิการและผู้ด้อยโอกาส สามารถปรับตัวและใช้ชีวิตตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างเหมาะสมและมีความสุข

นางสาวภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงที่มาของการจัดโครงการ “พัฒนาหลักสูตรทักษะชีวิตหลักสูตรทักษะชีวิต (Life Skills) สำหรับเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาส” ว่า สืบเนื่องจากนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในด้านการศึกษาที่ว่า “เรียนดี มีความสุข” นั้น ทางสำนักงานบริหารงานการศึกษาพิเศษ จึงดำเนินการตอบรับและต่อยอดในการขยายโยบายฯ ดังกล่าว ให้ออกมาเป็นรูปธรรมมากขึ้น และส่งผลชัดเจนกับเด็กนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย จึงได้มีแนวคิดในการสร้างโรงเรียนแห่งความสุขเพื่อเป็นกุญแจสำคัญไปสู่ความสำเร็จของการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กกลุ่มพิเศษที่อยู่ในความดูแลของโรงเรียนในสังกัด สำนักงานบริหารงานการศึกษาพิเศษ

ทั้งนี้ สำนักงานบริหารงานการศึกษาพิเศษ มีนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ 2 กลุ่มด้วยกัน ดังนี้ กลุ่มแรก โรงเรียนกลุ่มเฉพาะความพิการ (สำหรับกลุ่มเด็กพิการ) ที่มีความบกพร่องทางด้านสายตา ด้านสติปัญญา และ กลุ่มที่สอง โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ (สำหรับกลุ่มเด็กด้อยโอกาส) เนื่องจากฐานะยากจน ซึ่งเด็กเหล่านี้จะอยู่ในความดูแลเสมือนโรงเรียนประจำตลอด 24 ชม. ในช่วงการเรียนรู้ระยะเวลา 12 ปี ดังนั้น จึงต้องออกแบบการเรียนการสอนที่เน้นกระบวนการเรียนรู้ระหว่างการใช้ชีวิตในโรงเรียนและตอบโจทย์ทักษะชีวิตที่ต้องตอบสนองความต้องการจำเป็นพิเศษของเด็ก เน้นสร้างแรงบันดาลใจไม่รู้สึกว่าการเป็นเด็กพิเศษเป็นอุปสรรค และส่งเสริมให้เด็กๆ ต้นพบตัวเอง รู้คุณค่าของตัวเอง เป็นทักษะที่เสริมสร้างศักยภาพของเด็กให้เข้มขันมากขึ้น และที่สำคัญเมื่อจบออกไปสามารถประกอบวิชาชีพที่มั่นคงและใช่ชีวิตในอนาคตได้


ความร่วมมือระหว่างสำนักงานบริหารการศึกษาพิเศษ และศูนย์ความเป็นเลิศด้าน Human and Business Development คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จึงจัดโครงการ “พัฒนาหลักสูตรทักษะชีวิตหลักสูตรทักษะชีวิต (Life Skills) สำหรับเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาส” เปิดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้บริหาร ครู และนักเรียน จากโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ (สำหรับกลุ่มเด็กด้อยโอกาส) และโรงเรียนกลุ่มเฉพาะความพิการ (สำหรับกลุ่มเด็กพิการ) จาก 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคอีสาน เพื่อนำความคิดเห็นเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นสำหรับเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาส มาเป็นแนวทางในการจัดทำร่างหลักสูตรทักษะชีวิต (Life Skills) ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก

จากการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว ได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาหลักสูตรทักษะชีวิต (Life Skills) สำหรับเด็กพิการแลผู้ด้วยโอกาส ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 7 สมรรถนะในการพัฒนาทักษะชีวิต ได้แก่ สมรรถนะที่ 1 ด้านการจัดการตนเองและการเรียนรู้ด้วยตนเอง ความสามารถในการดูแลสุขอนามัย กิจวัตรประจำวันตามบทบาทหน้าที่ การระมัดระวังภัยและการหลีกเลี่ยง การปฐมพยาบาลเบื้องต้น รู้จักและเห็นคุณค่าในตนเอ วางแผนจัดการตนเองในการเรียนรู้การเงิน การจัดการความคิด การควบคุมอารมณ์และความเครียด และสะท้อนการเรียนรู้ตนเอง สมรรถนะที่ 2 ด้านการเรียนรู้เพื่อการคิดอย่างสร้างสรรค์ ความสามารถในการรับรู้และเรียนรู้วิเคราะห์ข้อมูล สรุป นำเสนอและเลือกใช้ข้อมูลอย่างเหมาะสม เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ สมรรถนะที่ 3 ด้านการทำงานเป็นทีมและความเป็นพลเมืองที่ดี ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาทอย่างรับผิดชอบ ทำงานร่วมกับผู้อื่น รับฟังความคิดเห็น ยอมรับความแตกต่าง ช่วยเหลือสมาชิก ปฏิบัติตนตรมสิทธิและหน้าที่ รับผิดชอบต่อสังคม สมรรถนะที่ 4 ด้านการสื่อสาร ความสามารถในการถ่ายทอด แลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้สึกความต้องการของตนเองต่อผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ สมรรถนะที่ 5 ด้านการวิเคราะห์และการแก้ไขปัญหา ความสามารถในการวิเคราะห์และอธิบายปัญหา ระบุสาเหตุ แนวทางแก้ไข เลือกวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสม วางแผน ลงมือแก้ไขปัญหา และระเมินผลการแก้ปัญหาได้ สมรรถนะที่ 6 ด้านการใช้เทคโนโลยี ความสามารถในการเลือกใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศหรือโปรแกรมประยุกต์ (Application) เพื่อการเรียนรู้อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันอย่างปลอดภัย และ สมรรถนะที่ 7 ด้านการประกอบอาชีพ ความสามารถในการเลือกอาชีพที่รู้จักและสนใจ เพื่อเตรียมตัวประกอบอาชีพให้เหมาะสมกับศักยภาพของตนเอง บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม

อย่างไรก็ตามสมรรถนะทั้ง 7 ประการ จะเป็นแนวทางในการพัฒนาศึกษาที่มีคุณภาพ สามารถเพิ่มทักษะชีวิต (Life Skills) ให้กับเด็กพิการและผู้ด้อยโอกาสในสังคมไทย และยังมีความเชื่อว่าสังคมไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ชมชนใกล้เคียงโรงเรียน ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือทุกภาคส่วนในสังคม ล้วนมอบโอกาสในการร่วมพัฒนาทักษะชีวิตให้แก่เด็กๆ เพื่อให้พวกเขาได้ฝึกฝน เพื่อให้เกิดความชำนาญ กลายเป็นสมรรถนะที่สำคัญที่เขาจะนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้ต่อไปในอนาคต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *