Thursday, July 3, 2025
Latest:
การศึกษา-ไอที

สถาปัตย์ มทร.ธัญบุรี ปั้นนวัตกรรมรักษ์โลก เพิ่มศักยภาพผู้สูงอายุลำลูกกา สร้างอาชีพมั่นคงคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ตอกย้ำบทบาท

สถาบันการศึกษาเพื่อสังคม เดินหน้าความร่วมมือกับเทศบาลตำบลลำลูกกาต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ภายใต้ “โครงการมหาวิทยาลัยผู้สูงอายุเทศบาลตำบลลำลูกกา” โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพผู้สูงอายุให้มีทักษะการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ และเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นางสาวนิตาพร โพธิ์ปัน หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนเทศบาลตำบลลำลูกกา เล่าว่า โครงการมหาวิทยาลัยผู้สูงอายุเทศบาลตําบลลําลูกกา ประจําปีงบประมาณ พ.ศ.2568 เพื่อให้ผู้สูงอายุในเขตเทศบาลที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ได้รับการส่งเสริม ศักยภาพทางด้านการเรียนรู้ การพัฒนาตนเอง และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม โดยกระบวนการมี ส่วนร่วมของชุมชน ท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย แนวทางดังกล่าวนี้สอดคล้องกับนโยบายของเทศบาล ตําบลลําลูกกา ที่ต้องการพัฒนามหาวิทยาลัยผู้สูงอายุในเขตเทศบาลฯ ให้สอดคล้องกับความต้องการ ของผู้สูงอายุในชุมชน โดยได้เชิญ คณบดี คณะสถาปัตยกรรม อาจารย์ศักดิ์สิทธิ์ โสมนัส ร่วมเป็นที่ปรึกษา และคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยผู้สูงอายุเทศบาลตําบลลําลูกกา

ผศ.ว่าที่ร้อยตรี  กิติศักดิ์ วิทยาโกมลเลิศ รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา เผยว่า บทบาทของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ชุมชน จึงได้พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้แก่ผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เสริมศักยภาพแก่ผู้สูงอายุ ขยายโอกาสเพื่อการประกอบการอาชีพแก่ครอบครัว และสร้างรายได้เสริม เพื่อให้ผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้สามารถนำไปพัฒนาตนเอง และถ่ายทอดความรู้ให้กับครอบครัว เพื่อนบ้านและชุมชนได้ โดยได้ดำเนินการเป็นปีที่ 4 ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างคณะฯกับเทศบาลฯ เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2567 โดยในปีนี้(2568) ได้ดำเนินการบริการวิชาการเพื่อสังคม เพื่อสนับสนุนเป็นโครงการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อการประกอบอาชีพของชุมชน รับผิดชอบ กิจกรรมการเรียนรู้แก่ผู้สูงอายุ 2 กิจกรรม

“กิจกรรมที่1 เรื่อง การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากเศษไม้เหลือใช้ เพื่อเป็นการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม และเพิ่มคุณค่าให้กับเศษไม้ที่เหลือทิ้ง เป็นนวัตกรรมฯ สร้างมูลค่าเป็นรายได้เสริมแก่ครอบครัว และเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เรียนรู้ ณ มหาวิทยาลัยผู้สูงอายุเทศบาลตำบลลำลูกกา และ กิจกรรมที่2 เรื่อง การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกเหลือใช้ และการแปรรูปพลาสติก เพื่อเป็นการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม และเพิ่มคุณค่าให้กับเศษพลาสติกที่เหลือทิ้งในสิ่งแวดล้อม เป็นนวัตกรรมฯ  เป็นสร้างรายได้เสริม และเป็นกิจกรรมเครือข่ายที่ทำร่วมกัน ระหว่างภาคชุมชน ภาคท้องถิ่น และภาควิชาการ คือมหาวิทยาลัยฯ เรียนรู้ ณ คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี” ที่ได้ดำเนินการในวันนี้(19มิถุนายน2568)

ทาง นายพันธ์ศักดิ์ สำเภาเจริญ ประธานนักศึกษามหาวิทยาลัยผู้สูงอายุรุ่นที่ 9 เล่าว่า การจัดการขยะมีความสำคัญระดับชาติ ควรมีการจัดอบรมให้ความรู้ ซึ่งความรู้ที่ได้จากการอบรมนำไปใช้ในชุมชนบ้านฟ้า มีกว่า 400 หลังคา ยกตัวอย่างอาศัยอยู่ที่เฟส 7 นำความรู้ที่ได้มาจัดการในเฟส มีการแยกขยะ ทุกเดือนจะมีการสะสางของเหลือใช้ในบ้าน นำออกมาขายเพื่อเป็นกองทุนช่วยเหลือคนในชุมชน หรือแม้กระทั่งการแยกขยะ ฝาขวด ขวดที่เครื่องหมาย PET/PETE สามารถรีไซเคิลได้ 

นางสมใจ ไม้สนธิ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยผู้สูงอายุรุ่นที่ 9 เล่าว่า หลักสูตรของอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ก่อให้เกิดประโยชน์ ยกตัวอย่างในเรื่องของโลกร้อน สอนการรีไซเคิล กลับนำมาใช้ใหม่ นำเศษไม้ มาประดิษฐ์ สอนทำพวงกุญแจจากขยะพลาสติก ซึ่งเป็นการปรับสภาพจิตใจ ทักษะความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking ทำให้ผู้สูงอายุฝึกทำให้ไม่เป็น อัลไซเมอร์

ว่าที่ร้อยเอก ธนาวุฒิ ชนะคช นักศึกษามหาวิทยาลัยผู้สูงอายุรุ่นที่ 9 เล่าว่า การให้ความรู้ในเรื่องของพลาสติก ขยะพลาสติก เป็นปัญหาในชุมชน อาจารย์ได้ให้ความรู้กับผู้สูงอายุ เปลี่ยนขยะเป็นมูลค่า นำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ตลอดได้มาเยี่ยมชมที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ได้เข้ามาศึกษาดูงานนวัตกรรมคัดแยกขยะ ซึ่งอยากให้อาจารย์นำไปถ่ายทอดและต่อยอดในหลักสูตรต่อไป

ความร่วมมือครั้งนี้ไม่เพียงแต่ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้มีศักยภาพในการประกอบอาชีพและสร้างรายได้ แต่ยังเป็นแบบอย่างที่ดีในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา ชุมชน และหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

                                                                                        

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *