การศึกษา-ไอที

อาจารย์มทร. ร้องมูลนิธิธรรมาภิบาล ผู้บริหารฯกลั่นแกล้ง พ้นตำแหน่งพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา

ดร.จิรายุ อัครวิบูลย์กิจ อดีตอาจารย์ มหาวิทยาลัยราชมงคลตะวันออก เขตพื้นที่จักรพงษภูวนารถ (มทร.) และ ดร.วิทยา เจียมธีรนาถ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยราชมงคลตะวันออก ได้ยื่นหนังสือถึง ดร.ณัฏฐ์ ธีรณัฐสุภานนท์ ประธานมูลนิธิธรรมมาภิบาลและต่อต้านทุจริต และ นายกสภาสมาคมธรรมาภิบาล ให้ตรวจสอบผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ หลังถูกกลั่นแกล้งจนพ้นจากสภาพการเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา หลังจากที่ลงสมัครชิงตำแหน่งคณบดี

วันที่ 13 พฤษภาคม 2568 ดร.จิรายุ อัครวิบูลย์กิจ อดีตหัวหน้าภาควิชา คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาโลจิสติก มหาวิทยาลัยราชมงคลตะวันออก เขตพื้นที่จักรพงษภูวนารถ และ ดร.วิทยา เจียมธีรนาถ ได้ยื่นหนังสือต่อ ดร.ณัฏฐ์ ธีรณัฐสุภานนท์ ประธานมูลนิธิธรรมาภิบาลและต่อต้านทุจริต และ นายกสภาสมาคมธรรมาภิบาล หลังไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้บริหารระดับสูงของ มหาวิทยาลัยฯ ที่ออกหนังสือคำสั่งให้หลุดพ้นจากตำแหน่งพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยให้เหตุผลว่าผู้เสียหาย ไม่ได้ยื่นคำขอให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยฯ ในการดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภายในระยะเวลาที่กำหนด จนต้องพ้นสภาพการเป็นพนักงาน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่มีการประกาศผลผู้มีสิทธิ์ที่ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งคณบดี คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ

ดร.จิรายุ เปิดเผยว่า ตนเองเคยเป็นอดีตหัวหน้าภาควิชา คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาโลจิสติก มหาวิทยาลัยราชมงคลตะวันออก เขตพื้นที่จักรพงษภูวนารถได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีตลอดมาและไม่เคยมีข้อพิพาทกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชมงคลตะวันออก แต่อย่างใด จนกระทั่งเมื่อเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา ตนเองได้ตัดสินใจสมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อสรรหาผู้มีความสามารถให้ดำรงตำแหน่งคณบดี คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ และได้มีการประกาศผลเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2568 ผลปรากฏว่าตนเอง และ นางสาวละอองศรี เหนี่ยงแจ่ม ได้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ จนเหลือแค่เพียง 2 คนสุดท้าย

ต่อมาในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2568 ทางผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยราชมงคลตะวันออก ได้ออกหนังสือคำสั่งให้ตนเอง และ ดร.วิทยา เจียมธีรนารถ พ้นจากสภาพจากการเป็นอาจารย์และพนักงานของมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งให้ส่งคืนครุภัณฑ์ ภายในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 โดยการกระทำดังกล่าว ถือเป็นการกลั่นแกล้งและขัดขวางการเข้ารับการสรรหาตำแหน่งคณบดี คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชมงคลตะวันออก เนื่องจากตนเองเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการสมัครชิงตำแหน่งคณบดี และได้อ้างเหตุผลว่าผู้เสียหาย ไม่ได้ยื่นคำขอให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยฯ ในการดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภายในระยะเวลาที่กำหนด

ดร.จิรายุ กล่าวว่า ตนเองได้ส่งหนังสือรวมทั้งรายละเอียดแผนการจัดเตรียมเอกสารวิชาการเพื่อเข้ารับการดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ของมหาวิทยาลัยราชมงคลตะวันออก ในวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ซึ่งในระหว่างนั้นทางเจ้าหน้าที่ที่รับเรื่องดังกล่าวไม่มีการตอบกลับเกี่ยวกับรายละเอียดในการจัดเตรียมเอกสารวิชาการเมื่อมีการทวงถามกับเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใดจนกระทั่งได้มีการออกหนังสือคำสั่งในตนเองพ้นจากสภาพจากการเป็นอาจารย์และพนักงานของมหาวิทยาลัย

หลังจากนั้นได้ตรวจสอบรายละเอียดการส่งเอกสารจากระบบสารสนเทศ ของมหาวิทยาลัยฯ พบว่ามีข้อมูลการรับเอกสาร เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันว่าได้มีการส่งเอกสารรวมทั้งรายละเอียดแผนการจัดเตรียมเอกสารวิชาการเพื่อเข้ารับการดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ให้กับทางคณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ แต่ทางคณะฯ และ ผู้บริหารฯ ได้เพิกเฉยในการตรวจสอบเอกสารดังกล่าว ซึ่งไม่ทราบว่าระยะเวลากว่า 4 เดือน ที่ผ่านมาทางคณะผู้บริหาร ถึงไม่ทราบรายละเอียดเอกสาร ที่ยื่นเพื่อเข้ารับการดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาตราจารย์ แต่อย่างใด

ทั้งนี้ตนเองจึงได้ทำหนังสือถึง ดร.ณัฏฐ์ ธีรณัฐสุภานนท์ ประธานมูลนิธิธรรมาภิบาลและต่อต้านทุจริต และ นายกสภาสมาคมธรรมาภิบาล เพื่อต้องการให้ช่วยตรวจสอบสาเหตุที่มีการลงโทษตนเอง ให้พ้นจากสภาพจากการเป็นอาจารย์และพนักงานของมหาวิทยาลัย รวมทั้งตรวจสอบความโปร่งใสในการสรรหาผู้มีคุณสมบัติเพื่อเข้ารับตำแหน่งคณบดี คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชมงคลตะวันออก อีกด้วย

หลังจากตรวจสอบเอกสารดร.ณัฏฐ์ ธีรณัฐสุภานนท์ ได้เผยว่า ทางมูลนิธิธรรมาภิบาลและต่อต้านทุจริต จะให้ช่วยความเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหายด้วยการนำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลปกครอง ซึ่งผลการพิพากษาของศาลปกครอง จะสามารถต่อยอดไปยังความผิดอื่น ๆ ได้ไม่ว่าจะเป็นศาลแพ่ง ศาลอาญา หรือศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จากการตรวจสอบเอกสารที่ผู้ที่ได้รับความเสียหายนำมาประกอบการพิจารณา หากพบว่าการใช้อำนาจหน้าที่ของผู้บริหารฯ ที่ออกคำสั่งดังกล่าวว่ายังมีจุดบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบขั้นตอนอยู่หรือไม่ ทางมูลนิธิธรรมาภิบาลและต่อต้านทุจริต มีความเห็นว่าเรื่องนี้สมควรขึ้นสู่การพิจารณาของศาล เพื่อเป็นที่สิ้นสุดต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *