ผลสำรวจชี้โควิดระบาดทำพนันออนไลน์โตพรวดเกิน100% ระลอกสามทำ 40% เล่นพนันน้อยลง
เมื่อวันที่1 ก.ค. 2564 ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน และ สสส. จัดเสวนาออนไลน์ “พนันกับโควิด ภัยร้ายใต้ภูเขาน้ำแข็ง” ณ ห้องประชุมสมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เริ่มต้นจากการสนทนาประสาชุมชน “ติดโควิด-19 จากบ่อนพนัน ลามติดคนทั้งบ้าน… บทเรียนการจัดการในชุมชน” ตามด้วยเสวนา ในหัวข้อพนันกับโควิด -19 ภัยร้ายใต้ภูเขาน้ำแข็ง โดยนักวิชาการ แพทย์และมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน
ป้าจัน (นามสมมติ) ผู้ได้รับเชื้อโควิด-19 จากบ่อนพนัน เล่าว่า ป้าชอบเล่นพนันมาแต่สาว ๆ ตอนล็อกดาวน์ปีที่แล้วก็เข้าบ่อนเกือบทุกวัน พอรอบหลังโควิดแรงเลยไม่ไป ที่ติดพนันเพราะไปเจอเพื่อนที่เพิ่งไปบ่อน ไม่รู้ว่าเขาติดโควิด เลยคุยกันโดยไม่สวมหน้ากาก ต่อมารู้ว่าเพื่อนติดโควิด และป้าเริ่มเป็นไข้เจ็บหน้าอก เลยไปตรวจก็รู้ว่าป้าติด ตอนนั้นไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แจ้งประธานชุมชนให้ช่วยหารถมารับ ต้องรออยู่ 5 วัน ทำให้ติดกันทั้งบ้าน
“ป้าไม่เคยคิดว่าผลกระทบจากการพนันจะร้ายแรงขนาดนี้ ตอนนี้ต่อให้เอาเงินมาให้เป็นหมื่นก็ไม่ไปเล่น อยากจะบอกทุกคนว่าการพนันมันทำให้เสี่ยงติดโควิด อย่าไปเลย เพราะเวลาเป็นโควิดมันทรมานมาก ทั้งเจ็บ ทั้งปวด สังคมรังเกียจ ขาดงาน ขาดรายได้ และพลอยทำให้คนอื่นได้รับผลกระทบไปด้วย ตอนนี้ลูกสาวป้าถูกให้ออกจากงาน เพราะที่ทำงานเขารู้ว่าป้าติดโควิด ป้าเสียใจที่ทำให้เขาต้องมาเดีอดร้อนไปด้วย” ป้าจันกล่าว
นางนัยนา ยลจอหอ ประธานชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม กล่าวว่า ในชุมชนเรามีการประชาสัมพันธ์ตลอด กินร้อน ช้อนใครช้อนมัน ล้างมือให้สะอาด เด็กๆให้อยู่บ้าน ต้องใส่แมสให้ตลอด พยายามให้ความรู้ และรักษากฎระเบียบ พอเกิดเคสป้าจันที่ทำให้ติดโควิดกันทั้งบ้าน เราก็ต้องช่วยประสานงานกับหลายหน่วยงาน โรงพยาบาลก็เต็ม ไม่มีเตียง ต้องทยอยส่งคนอาการหนักไปก่อน ป้าจันเป็นคนสุดท้ายน พอกลับจากโรงพยาบาลสนามต้องกักตัวอีก 14 วัน ก็ต้องดูแล เอาข้าว ขนมเด็ก ผ้าอนามัย และอื่นๆ ไปส่งให้ ต้องคอยเยียวยาช่วยเหลือให้เขาผ่านระยะนี้ไปให้ได้
“ขอฝากถึงพี่น้องในทุกชุมชน ขอให้ดูแลตนเองและครอบครัวให้ดี ต้องดูแลเด็กๆให้ดีที่สุด และเชื่อการประชาสัมพันธ์ของชุมชน ที่สำคัญ คืออย่าซ้ำเติมคนที่ติดโควิด อยากให้คิดว่าถ้าคนในครอบครัวคุณติดโควิดจะเป็นอย่างไร และฝากบอกหน่วยงานภาครัฐขอให้ดูแลทุกชุมชนแบบเสมอภาค ฝากไปถึงรัฐบาลด้วยว่า ทุกคนอยากให้มีการตรวจโควิดเชิงรุก ทุกคนอยากฉีดวัคซีน” นางนัยนา กล่าว
รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน กล่าวถึงผลสำรวจสถานการณ์ พฤติกรรม และผลกระทบการพนันในประเทศไทย ปี 2564 ว่าจากการเก็บข้อมูลประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 6,871 ตัวอย่าง ระหว่าง 20 กุมภาพันธ์ ถึง 8 เมษายน 2564 พบว่า ปี 2564 มีคนไทยเล่นการพนัน 32.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึงร้อยละ 6.3 โดยเกือบทุกกลุ่มมีสัดส่วนคนเล่นพนันเพิ่มขึ้นมาก ทั้งเด็ก เยาวชน วัยทำงาน และผู้สูงวัย การพนันที่นิยมมากที่สุดยังคงเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาลและหวยใต้ดิน ถัดมาคือ พนันไพ่ พนันทายผลฟุตบอล ไฮโล/โปปั่น/น้ำเต้าปูปลา วัวชน/ไก่ชน และหวยต่างประเทศ ด้านผลกระทบ พบว่าร้อยละ 15.1 ของคนเล่นพนันได้รับผลกระทบ ขาดเงินใช้จ่าย เครียด และมีหนี้สิน ช่วงที่มีการล็อกดาวน์ 26 มีนาคม ถึง 30 มิถุนายน 2563 พบว่ามีคนเล่นพนันน้อยลงถึงร้อยละ 57.5 และหยุดเล่นพนันไปเลยร้อยละ 13.7 เหตุผลเพราะกองสลากฯงดออกรางวัล ไม่มีแหล่งให้เล่นพนัน และต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ในช่วงการระบาดระลอกใหม่ ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2563 ถึงวันสุดท้ายของการสำรวจ คือวันที่ 8 เมษายน 2564 พบว่า มีคนหยุดเล่นพนันเพียงร้อยละ 1.2 และเล่นน้อยลง 41.2 แสดงว่าจำนวนหนึ่งกลับไปเล่นพนันเหมือนเดิม
“น่าสังเกตว่า ตอนล็อกดาวน์ปีที่แล้วคนเล่นพนันลดลงมาก แต่การระบาดระลอกใหม่คนเล่นพนันลดลงไม่มากนัก อาจเป็นเพราะมีการปรับตัว เล่นพนันเป็นกลุ่มเล็กๆ คนเล่นพนันในบ่อนส่วนใหญ่เล่นพนันกันเอง เล่นกับบ่อนในชุมชน บ่อนวิ่ง บ่อนงานศพ แม้จำนวนคนเล่นพนันในบ่อนและวงเงินพนันจะลดลงเมื่อเทียบกับปี 2562 ก็ถือว่าไม่มากนัก ส่วนที่น่าสนใจคือ กลุ่มที่เล่นพนันมากขึ้นคือคนที่เล่นพนันออนไลน์ ปี 2564 พนันออนไลน์เติบโตแบบก้าวกระโดด เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 มีจำนวนคนเล่นพนันออนไลน์เพิ่มขึ้นร้อยละ 135.8 วงเงินพนันออนไลน์เพิ่มขึ้นร้อยละ 431.3 ประเภทการพนันยอดนิยมของการพนันออนไลน์คือ บาคาร่า ป๊อกเด้ง หรือก็คือพนันไพ่” ดร.นวลน้อย กล่าว
นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า ความเดิมก่อนโควิดระบาดคนไทยเล่นพนันหลัก ๆ อยู่ 5 ประเภท ได้แก่ 1.สลากกินแบ่งรัฐบาล 2.หวยใต้ดิน 2.ไพ่ 3.จำพวกบ่อน เช่น บ่อนไฮโล บ่อนไก่ บ่อนในเมือง บ่อนในชุมชน บ่อนงานศพ และ 5.พนันทายผลฟุตบอล ส่วนใหญ่เล่นพนันเหล่านี้มานานเกินกว่าสิบยี่สิบปี ยกเว้นพนันฟุตบอล จึงมีความเคยชินมาก พอโควิดระบาด และเกิดแหล่งพนันเป็นคลัสเตอร์ ทำให้เกิดการช็อคไปชั่วขณะ เป็นผลให้คนหยุดเล่นหรือเล่นพนันน้อยลงเป็นส่วนใหญ่จนอาจเรียกว่า“โควิดหยุดพนันได้สำเร็จ” แต่แล้วพอเกิดคดีบ่อนพระราม 3 แสดงให้เห็นว่าบ่อนกลับมาเปิดกันอีก ขณะที่หวยค่อย ๆ เริ่มกลับมาคืนสภาพตามเดิม ยิ่งพอปลายปี 63 บ่อนกลับมาเปิดทั้งตามชายแดนและในประเทศ จนเกิดกรณี 1G1 และบ่อนภาคตะวันออก ทำให้บ่อนใหญ่ต่างพากับหลบลงไปอีก แต่เกิดการลักลอบเล่นพนันในขนาดที่เล็กลงพร้อมกับการระบาดของโควิดระลอกใหม่ ที่ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมา และขอให้ประชาชนแจ้งเบาะแสแก่รัฐบาล ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการพนันไม่ได้หายไปไหน เพราะมีการร้องเรียนอย่างต่อเนื่องเดือนละ 100-200 เรื่อง แสดงให้เห็นว่านักพนันไม่กลัวโควิดแล้วและกลับมาเล่นพนันเหมือนเดิม
เหตุที่คนเล่นพนันไม่กลัวโควิดอาจเป็นเพราะ 1. เล่นพนันมานานจนติด ไม่เล่นไม่ได้ 2. คนเล่นพนันมักคิดว่าการเล่นพนันเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน 3. นักพนันไม่เคยกลัวการถูกจับ 4.โควิดทำให้คนไทยมีเวลาว่างมากขึ้น ประกอบกับการขาดรายได้ ทำให้จำนวนหนึ่งหันไปหาพนัน และ 5. นักพนันบางคนประมาท คิดว่าจะไม่ติดโควิดจากบ่อนพนัน หรือบางคนคิดว่า ถึงติดก็รักษาฟรี เพราะรัฐบาลดูแล โดยไม่คิดว่าตนมีโอกาสจะแพร่เชื้อไปให้กับคนใกล้ตัว ทั้งคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หรือคนอื่น ๆ ซึ่งจะพลอยทำให้เดือดร้อนกันไปด้วย”
ด้านพญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน เราต้องรักษาตัวเอง ต้องไม่ใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ สถานการณ์โควิดตอนนี้เป็นการติดในครอบครัวและทั้งครอบครัว ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสูง คนเสียชีวิตเพิ่ม เพราะคนอยู่บ้านมักอ่อนแอกว่า การสูญเสียคนในครอบครัวทำให้คนทุกข์ใจ บางคนโทษตัวเอง สำหรับเรื่องการพนัน ธรรมชาติของมันเป็นการเพิ่มความเสี่ยง การไปบ่อนอาจพาโควิดกลับมาติดคนทั้งบ้าน แม้ว่าตอนนี้จะเป็นการเล่นพนันกลุ่มเล็กๆกันมากขึ้น แต่ก็มีความเสี่ยงสูง ซึ่งชุมชนต้องดูแลไม่ให้เกิด
“คนเล่นพนันมี 3 กลุ่ม1 คือติดพนัน ไม่ว่าจะมีอะไรมาขวางก็จะหาทุกวิถีทางเพื่อเล่นพนัน กลุ่ม2 คือพอหยุดตัวเองได้ กลไกครอบครัวและชุมชนจะช่วยเบรกกลุ่มนี้ไว้ได้ ส่วนกลุ่ม3 คือกลุ่มใหม่ ผู้ที่เริ่มรู้สึกเหนื่อยล้า เลยทำอะไรที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล ไม่มีความหมาย อารมณ์นี้กำลังผลักคนไปหาเรื่องพนันที่มีการกระตุ้นเชิญชวน การต่อสู้กับสถานการณ์ต้องใช้พลังใจ ซึ่งจะมาจาก 3 แหล่ง คือ ตัวเราเอง ครอบครัว และชุมชน ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น คำพูดเล็กๆน้อยๆของคนในครอบครัว คนใกล้ชิด คนในชุมชน จะส่งผลต่อพลังใจ การเปิดพื้นที่ให้คนได้คุยกัน จะทำให้ทุกคนได้พลังใจมากขึ้น” พญ.พรรณพิมล กล่าว