การศึกษา-ไอที

คณะอาชญาวิทยาฯ ม.รังสิต วางหมุดหมายผลิตบัณฑิต ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสังคม

คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต เดินหน้ามุ่งผลิตบัณฑิตเพื่อนำองค์ความรู้ช่วยแก้ไขปัญหาอาชากรรมในสังคมไทย

รองศาสตราจารย์ พันตำรวจโท ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล รองอธิการบดีฝ่ายความปลอดภัย และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เดิมสาขาวิชาอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ได้เปิดหลักสูตรในระดับปริญญาโทขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2552 ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากสถานการณ์การเกิดขึ้นของปัญหาอาชญากรรมของประเทศไทยในขณะนั้นมีแนวโน้มที่จะรุนแรงและสลับซับซ้อนมากขึ้น และหลากหลายปัญหามีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมหรือประชาชนทั่วไปอาจจะยังรู้ไม่เท่าทันคนร้าย หรือปรับตัวไม่เท่าทันกับปัญหาที่เกิดขึ้น  ดังนั้น การให้องค์ความรู้แก่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม และการให้ความรู้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการก่อตั้งหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ สาขาวิชาอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม (ในขณะนั้น) โดยมองว่าการเรียนทฤษฎีทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นในการปรับเปลี่ยนองค์กรต่าง ๆ ในกระบวนการยุติธรรม และภายหลังประมาณ 7 ปีต่อมา จึงได้เปิดหลักสูตรปริญญาเอกสาขาวิชาอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรมขึ้นในปี พ.ศ. 2559

“ด้วยสภาพปัญหาอาชญากรรมที่มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผู้คนตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมเพิ่มมากขึ้น คดีล้นมือตำรวจ รวมทั้งคดีที่เข้าสู่ศาลมีปริมาณมากขึ้นจนเป็นปัญหาของประเทศ มหาวิทยาลัยจึงมีแนวคิดในการต้องให้ความรู้ประชาชนควบคู่ไปด้วยโดยเฉพาะเยาวชน ซึ่งในปีการศึกษา 2561 ได้เปิดหลักสูตรในระดับปริญญาตรี สาขาวิชาอาชญาวิทยาและนิติวิทยาศาสตร์ และยกระดับขึ้นเป็นคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม โดยมีหลักสูตรการเรียนการสอนทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ด้วยหมุดหมายในการมุ่งผลิตบัณฑิตให้สามารถนำองค์ความรู้มาบูรณาการเพื่อการควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่ทวีความรุนแรงและสลับซับซ้อนมากขึ้น และผลักดันให้สังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของอาชญากรรมรูปแบบ ต่าง ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดทิศทาง วิธีการและมาตรการของการแก้ไขปัญหาผ่านกระบวนการยุติธรรม เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมและสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยในปัจจุบัน”

รองศาสตราจารย์ พันตำรวจโท ดร.กฤษณพงค์ กล่าวเกี่ยวกับจุดเด่นในการเรียนการสอนของคณะอาชญาวิทยาฯ ว่า ประการที่หนึ่ง เป็นคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีหลักสูตรการเรียนการสอนทั้งในระดับปริญญาตรี (สาขาวิชาอาชญาวิทยาและนิติวิทยาศาสตร์ และสาขาวิชาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม) ปริญญาโทและปริญญาเอก (สาขาวิชาอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เน้นการเรียนการสอนในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติควบคู่กัน ประการที่สอง นอกเหนือจากคณาจารย์ประจำซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว ยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยเชิญผู้มีประสบการณ์ตรงในหน่วยงานราชการ เช่น ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ศาล อัยการ กรมราชทัณฑ์ มาร่วมสัมมนาและให้ความรู้นักศึกษา ประการที่สาม เนื่องด้วยจุดเริ่มต้นในการตั้งหลักสูตรนี้ขึ้นมาเพื่อต้องการให้ปัญญาแก่สังคม ต้องการชี้แสงสว่างให้กับสังคม จะเห็นว่าที่ผ่านมาเมื่อเกิดคดีอาชญากรรมร้ายแรงจะมีการจัดเสวนาในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ อาทิเช่น การปฏิรูปตำรวจ การเสนอร่างกฎหมาย พรบ. ตำรวจแห่งชาติเข้าสภาฯ คดีทายาทเครื่องดื่มชูกำลังหรือบอส กระทิงแดง ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของกระบวนการยุติธรรม คดีคุณแตงโม ฯลฯ เพื่อเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ ทำและให้ประชาชนหรือบุคคลที่สนใจติดตามคดีต่าง ๆ หรือหน่วยงานภาครัฐได้กลับมาทบทวนรูปแบบการทำงานของตนเอง ประการที่สี่ มีความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยมีการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน เช่น กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม บริษัท บีทามส์ โซลูชั่น จำกัด เป็นต้น ทำให้นักศึกษาที่เข้ามาเรียนได้รับองค์ความรู้มุมมองที่หลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้ หน่วยงานภายนอกองค์กรระหว่างประเทศเช่น สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้ติดต่อมายังคณะเพื่อร่วมจัดอบรมเสวนาให้แก่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม จัดอบรมให้ความรู้กับอาสาสมัครในการเฝ้าระวังและป้องกันเหตุอาชญากรรมหรือการเข้าไปสถานที่เกิดเหตุก่อน ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าหน่วยงานองค์กรระดับโลกอยากมาร่วมมือกับเรา แสดงให้เห็นถึงมาตรฐานการเรียนการสอนของคณะอาชญาวิทยาฯ ที่เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล และมีหลักสูตรเทียบเท่ามาตรฐานในอังกฤษ ยุโรป และสหรัฐอเมริกา และ ประการที่ห้า เมื่อเกิดเหตุอาชญากรรมต่าง ๆ ขึ้นในประเทศไทย อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิของคณะมักจะได้รับเชิญจากสื่อมวลชนแขนง  ต่าง ๆ ในการร่วมให้ความเห็น ทั้งในแง่การให้ความรู้แก่ประชาชน และการชี้นำให้ทางออกแก่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ยังได้มีการบูรณาการองค์ความรู้กับชุมชน โดยต่อยอดไปสู่การจัดตั้งตำรวจมหาวิทยาลัย (ตร.ม.) แห่งแรกและเเห่งเดียวในประเทศไทย ภายใต้แนวคิดว่ามหาวิทยาลัยควรมีบทบาทสำคัญในการช่วยดูแลสังคม ซึ่งได้มีการจัดอบรมบุคลากรเพื่อทำงานดูแลมหาวิทยาลัยและชุมชน โดยทำงานร่วมกับตำรวจ มีการฝึกอบรมบุคลากรที่ทำหน้าที่ทั้งสายตรวจ ดูแลอำนวยความสะดวกจราจร ซึ่งจากสถิติการเกิดอาชญากรรมในชุมชนรอบรั้วมหาวิทยาลัยภายหลังจากมีการจัดตั้งตำรวจมหาวิทยาลัยพบว่าจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง ตรงนี้จึงเปรียบเสมือนแหล่งเรียนรู้และเป็นโครงการนำร่องของประเทศ และจากความสำเร็จนี้ทำให้หลายหน่วยงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศมาศึกษาดูงานของตำรวจมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกับชุมชน

“สำหรับการดำเนินงานเกี่ยวกับการเรียนการสอนในอนาคต ทางคณะฯ ได้มีการกำหนดแผนโดยดูทิศทางการพัฒนาการเรียนการสอนเพื่อให้สอดรับนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมทั้งดูเรื่องการผลิตบัณฑิตเพื่อให้ตอบรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน พร้อมทั้งดูแนวโน้มทิศทางสถิติการเกิดอาชญากรรมว่าจะเป็นไปในทิศทางใด เพื่อให้การผลิตบัณฑิตสอดรับกับการป้องกันแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นด้วยในแง่ของการพัฒนาองค์ความรู้ การคิด การเรียนการสอน ขณะเดียวกันก็สอดรับกับนโยบายของมหาวิทยาลัยรังสิตคือ พัฒนาความเป็นนานาชาติและพัฒนาบัณฑิตให้ตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาสังคม” ประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต กล่าวเพิ่มเติม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *